Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. ว่าด้วยเรื่องกลัวตาย

ว่าด้วยเรื่องกลัวตาย

จากหนังสือ “เข็นครกลงเขา”


เรื่องโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

ติช นัท ฮันห์ สงฆ์นักปราชญ์ชาวเวียดนาม ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม อันลือชื่อในประเทศฝรั่งเศส ได้เคยมาพักแรมที่บ้านน้ำสาน

 

เช้าวันหนึ่งท่านสั่งยิ้ม ๆ ว่า “I want you to write about your fear of death.” “ฉันอยากให้เธอเขียนเรื่องความกลัวตายในใจเธอ” ถามว่าจะเขียนอย่างไร “Just begin,” ท่านตอบยิ้ม ๆ “and it will grow.” “เริ่มเขียน แล้วมันจะงอกต่อเอง”

 

จะเริ่มตรงไหนดีล่ะ…ตรงความนึกคิดล่ะมัง…คนเราหลายคนที่คิดว่า ตัวเองไม่กลัวตาย อาจจะพบความกลัวนั้น ซ่อนเร้นอยู่ลึกในซอกใจ ลึกจนไม่เคยเข้าไปค้นห

 

ข้าพเจ้าเองเคยฝันซ้ำ ๆ อยู่ช่วงหนึ่ง ว่าหลงอยู่กลางถนน ไม่รู้ว่าเป็นบ้านไหนเมืองไหน สามีและลูกที่มาด้วยได้เดินหายไปโดยไม่บอกกล่าว ไม่รู้ว่าจะกลับมาให้ ได้เห็นอีกหรือไม่ ในฝันนั้น ข้าพเจ้าไม่มีเงินสักบาท ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่รู้จักใครและไม่มีใครรู้จัก ผู้คนที่ผ่านไปมาดูจะไม่สนใจ หรือมองไม่เห็นข้าพเจ้าเลยด้วยซ้ำ เคว้งคว้างในความไม่รู้ทั้งหลายทั้งปวง โหวงเหวงในความช่วยตัวเองไม่ได้ เดียวดายเพราะไร้คนใกล้ชิดมิตรญาติ หวาดหวั่นเพราะคาดการณ์ไม่ได้ จัดการไม่ได้ และปราศจากความสัมพันธ์กับคน สถานที่ และบทบาทหน้าที่ใด ๆ โดยสิ้นเชิง

 

พอมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง คนหนึ่งก็ฟันธงฉับว่า “กลัวสามีหรือลูกทิ้ง” แต่อีกคนว่า “กลัวตายน่ะสิ” พอคนฝันมองลึกเข้าไปในใจตัวเอง ก็รู้เลยว่าข้อหลังนั้นแหละ ใช่แล้ว…

 

โธ่เอ๊ย… เคยนึกอย่างเก๋ ทำนองว่า “ฉันไม่กลัวตายหรอก เพราะมันเป็นธรรมชาติ คนสัตว์ตายกันมาเกินคณานับ” แต่…เจ้าความฝันที่ว่านี้ มาแตะเตือนให้เห็นว่า ไอ้ที่ว่าไม่กลัวนั้นน่ะ มันอยู่ตื้นแค่สมองคิด ทว่าลึกลงเกินกว่าความมีเหตุผลจะ เข้าถึงนั้น…กลัว… เป็นความกลัวตายที่ผุดผงาดในรูปความฝัน ให้ต้องเผชิญหน้ากับภาวะที่ไม่มี ‘ของฉัน’ มาค้ำยัน ‘ตัวฉัน’ ไว้ให้เต็ม และมั่นคง ตรงนั้นไม่มี ‘ของฉัน’ สักอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ ความรัก (relationship) ความรู้ (knowledge) บทบาท (role) สถานภาพ (status) และความสามารถควบคุมจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ (control)

 

ความรู้ ทรัพย์สิน เงินทอง และเครื่องมือสื่อสาร ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเครื่องค้ำยันเหล่านี้ เมื่อเครื่องค้ำยันหายวับไปอย่างในฝันแล้ว ‘ตัวฉัน’ ล่ะคืออะไร จะยังอยู่ไหม เป็นไปได้ไหมว่า ส่วนลึกเร้นของความกลัวตาย คือความกลัวสูญเสีย “ฉัน” ที่ตั้งไว้บนเครื่องค้ำยัน (ของฉัน) ทั้งหลาย

 

ผู้อำนวยการแหล่งทุนการวิจัยคนหนึ่งเล่าว่า เขาเคยทำแบบทดลอง ให้คนตอบด้วยคำคำเดียวว่า “ฉันเป็นใคร” คำตอบส่วนใหญ่จะเป็น“ภรรยา” “สามี” “แม่” “นักบริหาร” “แพทย์”และอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน จะเห็นว่าผู้ตอบเอา บทบาท สถานภาพ ความสัมพันธ์กับสังคมและครอบครัว ซึ่งอยู่นอกตัวของตัว มาเป็นคำตอบว่าตนเองเป็นใคร สรุปว่าคำตอบ เป็นการนำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็น “ของฉัน” มาอธิบายความเป็น “ฉัน”

 

ข้าพเจ้าเคยนั่งในความสงบจนจิตนิ่งได้ระดับหนึ่ง แล้วมองค้นเข้าไปหาว่า “ฉัน” นั้น มันอยู่ตรงไหนในกายและใจนี้ …ไม่พบค่ะ มีแต่ กายของฉัน ใจของฉัน ความรู้สึกของฉัน

 

ฝันร้ายนั้นไม่กลับมาเยี่ยมเยือนอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าเลิกกลัวหรือเก่งกล้าสามารถอะไรหรอก แต่เพราะฝันนั้นได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว คือทำให้ข้าพเจ้าได้สัมผัสธรรมชาติของความกลัวตายอย่างค่อย ๆ รับ ค่อย ๆ รู้ ให้ได้เข้าใจด้วยใจ

 

มันเป็นการปลุกเตือนให้รับรู้สัจธรรม ที่ออกจะสวนทางกับวิถี ‘ความเป็นผู้นำ’ที่ ใครมิใครฝึกเน้นกันนักหนา จนอดคิดไม่ได้ว่าพระพุทธองค์ทรงเป็น ‘ผู้นำ’ ที่ยืนยงนับพัน ๆ ปี จากการสละความเป็นผู้นำ ตลอดจนเครื่องค้ำยันอัตตานานาประการ เพื่อแสวงหาสัจธรรมที่อยู่นอกเหนือการควบคุมทั้งปวง

 

ทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังนึกขอบใจเจ้าความฝันอยู่เสมอ ที่เผยหน้าความกลัวตายให้ได้เห็น เป็นการปูทางให้ค่อย ๆ รู้จักที่จะอยู่กับความไม่รู้ ความควบคุมไม่ได้ อย่างยอมรับและอ่อนโยน… เมื่อเวลานั้นมาถึง


ภาพประกอบโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ avatar image
เรื่องโดยคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ผู้ก่อตั้ง และประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของชีวามิตร ผู้เปี่ยมประสบการณ์ในหลายบทบาท ทั้งนักข่าว นักเขียน นักวิจารณ์ ผู้จัดรายการวิทยุ ผู้กำกับสารคดี นักธุรกิจ นักคิด นักพูด และนักพัฒนาสังคม จนทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นนักเรียนรู้ นักทดลอง นักปฏิบัติ และนักผจญภัย ที่เชื่อเสมอว่า ชีวิตมีชีวาเมื่อกลับมาอยู่กับปัจจุบัน

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads