Knowledge cover image
13 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. มาคุยกันเรื่องเยี่ยมไข้

มาคุยกันเรื่องเยี่ยมไข้

มองอีกมุมจากผู้ (เคย) ป่วย


เรื่องโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

ผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้ ส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยป่วยหนักจากโรคที่ร้ายแรง หรือเจ็บปวดจากผ่าตัดใหญ่ หรือรับคีโม ฉายแสง ต้องนอนรักษาตัวนาน ๆ หรือเป็นโรคที่ตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าจะถึงกับชีวิตหรือไม่ แต่ก็คงเคยไปเยี่ยมคนป่วยที่เป็นอย่างนี้ ไม่จะว่าจะไปด้วยความรัก ความห่วงใย หรือด้วยมารยาท หรือด้วยหน้าที่


แต่มีใครนึกสงสัยอยากรู้บ้างไหมคะ ว่าคนไข้ในสภาพนี้มักจะชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไรในคนเยี่ยม อะไรบ้างที่ทำให้รู้สึกดี อะไรที่ทำให้อึดอัด รำคาญ


เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีหมอ พยาบาล คนป่วย ญาติคนป่วย พระสงฆ์ และคนที่สนใจประมาณ 30 คน ตั้งวงกันถึงคุยกันเริ่มจากเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงแม้คนเราจะแตกต่างกันด้วยนิสัยใจคอ เพศ พื้นฐาน เชื้อชาติ แต่ก็เหมือนกันตรงที่ไม่มีใครอยากเจ็บ อยากปวด อยากกลัว อยากกังวล หรืออยากเป็นภาระกับใคร อันที่จริงเรื่องนี้ได้มีการศึกษาวิเคราะห์กันมาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแวดวงการดูแลผู้ป่วย แบบที่เรียกกันว่า Palliative care การดูแลผู้ป่วยอย่างประคับประคองให้สุขสบายที่สุดทั้งกายใจ เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษายากและผู้ป่วยระยะท้าย


สรุปรวมได้ว่า การเยี่ยมไข้นั้น น่าเยี่ยมด้วยใจที่เปิดและพร้อมที่จะฟังมากกว่าพูด ไม่น่าจะซักถามเรื่องราว หรืออาการป่วย เพราะใครมาใครก็ถาม คนไข้บางคนเอือมที่จะต้องเล่าแล้วเล่าอีก ที่ดีที่สุดคือถามว่า “ตอนนี้รู้สึกยังไง” ด้วยความสนใจจริงในความรู้สึกของเขาขณะนั้น (“รู้สึกยังไง” มีความหมายมากกว่า “เป็นไงบ้าง” ซึ่งเป็นคำถามที่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าคนถามถามเพราะไม่รู้จะถามอะไร) นอกจากนั้นแล้ว “รู้สึกยังไง” ยังให้โอกาสที่เขาเลือกตอบสั้น ๆ ก็ได้ หรือจะร่ายยาวก็ได้ (คนป่วยบางคนก็ชอบที่จะเล่าเรื่องความเจ็บป่วยของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างละเอียด ถ้าเขามีแรงและต้องการเพื่อนคุย) ถ้าดูว่าคนไข้ยังไม่อยากจะพูดจะคุยอะไรมาก ก็นั่งเงียบ ๆ ด้วยความรู้สึกอบอุ่นและเป็นมิตร คนเยี่ยมที่ดีจะรู้จักดูจังหวะที่จะลา


คนที่ไปเยี่ยมคนป่วย หยุดมองใจมองอารมณ์ตัวเองสักนิดก็น่าจะดี ดูซิว่ามีอารมณ์ค้างติดมาหรือเปล่า หายใจยาว ๆ ละเอียด ๆ สักสองสามครั้ง ทิ้งเรื่องราวที่ติดพันมาไว้นอกห้องผู้ป่วย ข้าพเจ้าเคยฟังจิตแพทย์ท่านหนึ่งเล่าถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่า ผู้ป่วยรับผลจากพลังเมตตาที่แผ่จากคนที่ทำสมาธิที่อยู่ในห้องข้างเคียงได้ ความเครียดของคนเยี่ยม ก็น่าจะเป็นพลังที่ไม่ดีนักกับคนป่วย


คุยกันในวงวันนั้น ได้พฤติกรรมที่คนไข้ไม่ชอบในคนเยี่ยมและคนเฝ้าไข้มาหลายหัวข้อ

• ไม่ชอบให้ คนเยี่ยมมาแนะนำโน่นนี่ด้วยท่าทีที่กดดัน (โดยไม่รู้ตัว) เช่นให้ใช้อาหารเสริมตัวนี้ ยาตัวนั้น สมุนไพรชนิดนี้ หมอทางเลือกคนนั้น ฯลฯ คนไข้มะเร็งบางคนบอกว่า ใครมาใครก็แนะนำจนเครียดไปหมด เกรงใจก็เกรงใจ สับสนก็สับสน เพราะไม่รู้จะเชื่อใคร มิหนำซ้ำผู้หวังดีบางคนยังงอนหรือโกรธซะอีกว่าแนะนำแล้วไม่เชื่อไม่ทำตาม

• ไม่ชอบการถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ เช่น ให้กิน ให้ดื่ม เมื่อไม่อยากกินหรือดื่ม ในกรณีนี้มักจะเป็นญาติสนิท หรือพ่อแม่ ลูกหลาน

• ไม่ชอบให้คนเยี่ยมถือวิสาสะ ชี้แนะ รุกล้ำความเป็นส่วนตัว เช่น (เรื่องจริงเมื่อเร็ว ๆ นี้) แม่เพื่อนของเด็กที่เจ็บหนักจากอุบัติเหตุ มาเยี่ยมให้ย้ายทิศหัวเตียงที่หันไปทิศใต้ “เพราะมันเป็นทิศคนตาย”

• ไม่ชอบให้คนเยี่ยมเยี่ยมนานเกินไป พูดมากเกินไป หรือมาตั้งนั่งคุยกันเอง เสมือนคนไข้ไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้น

• ไม่ชอบให้คนเยี่ยมถกเถียงกันเองในเรื่องของตัวคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลหรือการรักษา อันที่จริงแล้วไม่อยากให้เถียงหรือขัดแย้งกันในเรื่องอะไรทั้งนั้น อยากฟังแต่เรื่องที่ทำให้สบายใจ

• ไม่ชอบให้เอาปัญหามาให้แก้ หรือ มาฟ้องเกี่ยวกับคนโน้นคนนี้

• ไม่ชอบให้เยี่ยมพร่ำเพรื่อไม่เป็นเวลา อยากให้มีการจัดการช่วงเวลาการเยี่ยม เพื่อจะได้ มีเวลาเป็นของตัวเองและเวลาพักผ่อน


การเยี่ยมไข้เป็นความสุขอย่างยิ่งกับคนเยี่ยมได้อย่างที่ข้าพเจ้าเคยเขียนเล่าไว้ในเฟสบุ๊คข้าพเจ้า 


เพิ่งตระหนักถึงความสำคัญของผ้าอ้อม

เพิ่งเสร็จจากการจัดคอร์สวิถีสู่ความตายอันสงบ 5 วัน ภายใต้การนำของท่านอาจารย์ไพศาล วิสาโล และคุณวรรณา จารุสมบูรณ์ แห่งเครือข่ายพุทธิกา ที่บ้านน้ำสาน ครั้งนี้เรามีพระภิกษุสงฆ์เข้าร่วมรับการอบรม 2 รูป แม่ชี 1 รูป ผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ-ญาติผู้ป่วยหลายท่าน นอกจากนั้นเป็นผู้ที่จะนำความรู้ความเข้าใจไปช่วยขยายผลให้กว้างขึ้น ปีนี้นับเป็นปีที่ 8 ของโครงการนี้ที่บ้านน้ำสาน โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าอบรมให้ไม่เกิน 30 เพื่อคุณภาพของการอบรม


ในวันที่สี่ของการอบรม ท่านอาจารย์พาเราไปเยี่ยมคนไข้ระยะท้ายที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ผู้เข้าอบรมรับการมอบหมายให้แยกย้ายกันเป็นคู่ ๆ ให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายที่ทางโรงพยาบาลจัดให้ โดยให้อยู่กับคนไข้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

ป้าศรีกับแม่ชีจอยได้รับมอบให้เยี่ยมผู้ป่วยหญิงวัย 40 เศษ ที่เป็นมะเร็งลำไส้ มองแว้บแรกก็คิดว่าเธอเป็นมนุษย์ที่ผอมที่สุดที่เคยเห็นมาในชีวิต ผอมจนดูเหมือนโครงกระดูก ผิวแห้งตกเป็นสะเก็ดดำ ๆ เกือบจะทั่วทั้งกายที่แห้งเป็นหนังติดกระดูก จนรู้สึกว่าไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้


แต่เธอยังมีไม่ใช่แค่ชีวิต แต่ชีวาด้วย


เพราะพอลืมตาเห็นเรามาเยี่ยม (ป้าให้แม่ชีในชุดขาวบริสุทธิ์เดินนำไปข้างเตียง ป้าเดินตาม) เธอก็ยิ้มรับฟันขาว ตาที่โหลลึก กลับดูสวยเป็นประกายได้ เป็นยิ้มที่ฉายแสงใสจากใจ เป็นยิ้มที่สื่อความปราโมทย์จากมนุษย์ต่อมนุษย์ ป้าศรีรู้สึกว่าใจตัวเองใสขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง …


เอ๊ะ… ใครเป็นฝ่ายให้ ใครเป็นฝ่ายรับกันเนี่ย สรุปได้ตรงนั้นว่าในกระแสสายน้ำใจนั้น การรับกับการให้ผสานกันเป็นเกลียวธารที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิต


อายุแค่นี้ แต่เธอเป็นยายแล้ว เธอมีหลานเล็ก ๆ ที่เกิดจากลูกสาวคนเดียว เธอนอนอยู่โรงพยาบาลมา 3 เดือน ครอบครัวพาเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องกินอาหารไม่ได้ แรก ๆ สามี (ซึ่งติดเหล้า) กับลูกสาวก็มาเยี่ยม แต่พอนานเข้าก็หายไป น่าจะเป็นเพราะบ้านอยู่ในอำเภอที่ไกลออกไป และต้องทำมาหากินพร้อมเลี้ยงลูก


การสื่อสารลำบากหน่อย เพราะสำเนียงภาษา (ทั้งแม่ชีและป้าเป็นชาวกรุงเทพฯ) เธอบอกเราว่า เหงามากและเบื่อ เดินไม่ได้ ไม่มีแรง เมื่อสมัยเดินได้ก็ปวดน่อง แม่ชีกับป้าก็ช่วยกันบีบนวดให้ เธอบอกว่าชอบ สบาย แต่เกรงใจคนนวด


คุย ๆ กันไปเราก็ช่วยเธอคิดหาทางแก้เบื่อ ถามว่าสวดมนต์ด้วยกันไหม เธอบอกว่า เอา เธอสวด”อิติปิโส”ได้ เราสามคนก็อิติปิโสด้วยกันได้สักพัก ก็สอนให้เธอทำสมาธิ หายใจเข้า ”พุทธ” หายใจออก ”โธ” เราพยายาม ”พุทโธ” ให้เข้าจังหวะกับลมหายใจเธอ ด้วยการเอามือวางเบา ๆ ที่หน้าอกเธอ ทำด้วยกันไปพักหนึ่ง พอหยุดเธอก็ยิ้มตาใส บอกว่า “ม่วน” (สนุก)


สิ่งที่เธอต้องการที่สุดคือให้ลูกมาเยี่ยม กินข้าวเกรียบ และอยากได้แพมเพอร์ส เพราะนอนอยู่นี่เปียกแฉะอยู่เรื่อย พยาบาลดูแลดี แต่ไม่มีเวลาเพราะคนไข้เต็มไปหมด ช่วงที่ป้าออกมาโทรศัพท์ถึงคนขับรถให้ช่วยไปซื้อแพมเพอร์สจากร้านข้างโรงพยาบาล เธอก็บอกแม่ชีว่า เธออยากได้เสื้อยืดเพื่อใส่กลับบ้าน และข้าวสารเพื่อเอากลับไปฝากบ้าน…


หนึ่งชั่วโมงผ่านไปเร็วมาก เหมือนใส่ปีกบินอย่างเงียบเชียบสนิท ไม่ให้เรารู้ตัว


ตอนจะกลับออกมาแม่ชีเอาเงิน 500 บาทฝากคุณพยาบาลให้ช่วยซื้อเสื้อยืดกับข้าวสารให้เธอด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบจริง ๆ ว่า เธอจะได้มีวันใส่เสื้อยืด หิ้วข้าวสารกลับไปบ้านหรือไม่


หลังจากลาคนไข้แล้ว ก็ทยอยกันมานั่งรวมกันในห้องประชุมโรงพยาบาล เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้จากประสบการณ์การเยี่ยมไข้


และทันทีที่ปิดคอร์สบ่ายวันศุกร์ ป้าศรีก็ปร๊าดไปแม็คโครพร้อมเงินร่วมบริจากจากผู้เข้าอบรม ไปซื้อผ้าอ้อมขนาดต่าง ๆ ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็ก จำนวนมาก ๆ เพราะโรงพยาบาลนครพิงค์มีวอร์ดสามัญถึง 12 วอร์ดพร้อมกับโลชั่นเด็ก (เบบี้โลชั่น) เอาไปบริจากทันที ด้วยความรวดเร็วสมเป็นวัยรุ่นอายุ 76 อ้อ มีข้าวเกรียบแบบโบราณของทางชนบทภาคเหนือที่มีเพื่อนช่วยไปเสาะหามาให้ เอาไปให้ผู้ป่วยของแม่ชีกับป้าด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเธอจะกินมันได้ คิดเอาว่าไม่เป็นไรน่ะ เธอเคี้ยว ๆ อม ๆ มันให้สมใจก็ยังดี… และเธอก็คงดีใจที่มีคนไม่ลืมความปรารถนาของเธอ


นอกจากนั้นแล้วก็ยังซื้อคิทแคท Kit-Kat จำนวนมากไปให้คุณพยาบาลทั้งหลาย เพราะเห็นพวกเธอทำงานกันนักหนา และด้วยหัวใจจริง ๆ บางครั้งเธอก็สงสารคนไข้จนทนไม่ไหว ต้องควักกระเป๋าตัวเองซื้อผ้าอ้อมให้บางราย เงินเดือนพยาบาลโรงพยาบาลรัฐก็ไม่ใช่ว่าสูงนักนะคะ


ถ้าใครสงสัยว่าทำไมซื้อคิทแคท ขอตอบว่าป้าศรีเองชอบกินค่ะ แต่กินแล้วมันอ้วน ก็เลยผลักภาระความอ้วนไปให้คุณพยาบาลสาว ๆ ค่ะ


ที่มา: บทความ “มาคุยกันเรื่องเยี่ยมไข้” จากคอลัมน์ Reflection of Thought นิตยสาร “THE WISDOM” ฉบับกุมภาพันธ์ 2559

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์  avatar image
เรื่องโดยคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง และประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของชีวามิตร ผู้เปี่ยมประสบการณ์มากมายในหลายบทบาท ทั้งนักข่าว นักเขียน นักวิจารณ์ ผู้จัดรายการวิทยุ ผู้กำกับสารคดี นักธุรกิจ นักคิด นักพูด และนักพัฒนาสังคม จนทุกวันนี้ ท่านก็ยังคงเป็นนักเรียนรู้ นักทดลอง นักปฏิบัติ และนักผจญภัย ที่เชื่อเสมอว่า ชีวิตมีชีวาเมื่อกลับมาอยู่กับปัจจุบัน

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads