Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. จัดกระเป๋าเงินให้ดูแลชีวิตจนถึงวาระสุดท้าย

จัดกระเป๋าเงินให้ดูแลชีวิตจนถึงวาระสุดท้าย

วางแผนเพื่อจากอย่างหมดห่วงกังวล


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

การวางแผนเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดีจนสามารถจากไปได้อย่างหมดห่วงกังวล มิติเศรษฐกิจเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชีวิตระยะท้ายนั้นมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับชีวิต ถ้าเราวางแผนด้านการเงินได้ดีก็จะไม่ส่งผลกระทบอันเป็นภาระกับครอบครัว หรือคนที่อยู่ข้างหลัง


คุณพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Chief of Family Wealth Planning Services กลุ่มงาน Private Banking ธนาคารกสิกรไทย ให้คำแนะนำในการจัดกระเป๋าเงินให้ชีวิตมีเพียงพอจนสามารถจากไปอย่างมีความสุขว่า การวางแผนการเงินนั้น มีหลักสำคัญ 3 ประการคือ 


1 ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ ยิ่งวางแผนได้ดี  

2 ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ อาทิ สวัสดิการด้านสุขภาพ รายได้/ค่าใช้จ่าย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

3 ยอมรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งอาจวางแผนป้องกันได้เพียงบางส่วน


สำหรับวิธีการวางแผนนั้น ขั้นตอนแรกคือ “การกำหนดเป้าหมายของชีวิตและค่าใช้จ่าย” โดยการตั้งสมมุติฐานว่า เราจะมีอายุขัยเท่าใด เพื่อจะได้คำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้แก่

...ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ เช่น รูปแบบการใช้ชีวิตของตัวเองในปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้าคิดว่าเราจะมีอายุถึง 85 ปี และใช้ชีวิตแบบนี้ จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในอนาคต

...ค่ารักษาพยาบาล ให้ลองคิดว่าถ้าเราเป็นโรคเรื้อรังที่คนไทยส่วนใหญ่เป็น เช่น มะเร็ง เบาหวาน จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ เมื่อตั้งโจทย์แล้ว ให้เราศึกษาว่าสวัสดิการด้านสุขภาพที่เรามีอยู่นั้นครอบคลุมการรักษาโรคเหล่านั้นหรือไม่ ส่วนที่สวัสดิการไม่ครอบคลุม เราต้องมาวางแผนต่อไป เช่น ออมเงินให้พอกับค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น หรือซื้อประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์ เป็นต้น

...ค่าใช้จ่ายเหตุฉุกเฉิน เช่น เกิดอุบัติเหตุ หรือตกงาน เราจึงต้องเผื่อเงินสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินไว้ระดับนึง โดยศึกษาสวัสดิการที่มีประกอบกัน เช่น ถ้าตกงานประกันสังคมช่วยอะไรบ้าง จะทำให้สามารถวางแผนได้ดียิ่งขึ้น


สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการวางแผนค่าใช้จ่ายในอนาคตคือ “อัตราเงินเฟ้อ” คิดง่าย ๆ ถ้าปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาท ผ่านไปอีก 10 ปี ก๋วยเตี๋ยวชามเดิมจะมีราคาแพงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น กลายเป็น 70 บาท จากนั้นนำมาวางแผนว่า เราจะต้องมีเงินออมเท่าไหร่ที่จะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเหล่านั้น


ขั้นตอนต่อมา คือ “การพิจารณาแหล่งเงินได้” ต้องเข้าใจก่อนว่า ต้นทุนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทุกคนจึงต้องเริ่มจากประเมินตัวเอง บางคนอาจมีต้นทุนมาแล้วมากหน่อยก็จะเป็นการเก็บของเดิมไว้ ทำให้มันเติบโต และส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป บางคนอาจจะมีต้นทุนเป็นศูนย์ จึงต้องมีการเก็บเงินซึ่งแนะนำให้แยกตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น เงินออมสำหรับเรียนหนังสือ เงินออมเพื่อซื้อบ้าน ส่วนของคนมีต้นทุนติดลบ ควรวางแผนแก้ปัญหาหนี้สินก่อน เพราะหนี้มักมีดอกเบี้ยที่เดินทุกวัน แล้วก็ควรจะออมไปพร้อมกัน ไม่จำเป็นต้องมุ่งใช้หนี้เพียงอย่างเดียว เพราะหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา ก็จะต้องไปกู้หนี้ยืมสินอีก


ขั้นตอนที่สาม คือ “การวางแผนรายรับ รายจ่ายและการออม” โดยมีโจทย์ว่า ในระยะยาวเราจะทำอย่างไรให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่าย ดังนั้น ในปัจจุบัน เราจะต้องมีรายได้เท่าไหร่ และจะต้องออมเงินสำหรับอนาคตเป็นเท่าไหร่ คำแนะนำเบื้องต้นในการออมสำหรับคนที่มีรายได้ค่อนข้างเสถียร หรือค่อนข้างแน่นอน อาจจะแบ่งสัก 20 – 30% เป็นเงินสภาพคล่องในการใช้จ่าย ส่วนที่เหลือนำมาคิดว่าจะต้องออมเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบ้างและเป็นจำนวนเท่าไหร่ 


นับว่าเป็นความโชคดีที่หลายหน่วยงานได้สร้างเครื่องมือที่ช่วยให้การวางแผนทางการเงินทำได้ง่ายมากขึ้น อาทิ website ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีตารางช่วยวางแผนการเงิน พร้อมทั้งคำแนะนำต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ลองเข้าไปศึกษาและลองวางแผนกันได้ที่ https://www.set.or.th/project/caltools/www/html/retirement.html


เมื่อวางแผนการเงินแล้ว เรามักจะพบว่าค่าใช้จ่ายหลายอย่างอาจสูงกว่าเงินที่เราสามารถออมได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษาของลูก ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เราสามารถเลือกเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ มาใช้วางแผนได้ เช่น การซื้อประกันสุขภาพ การซื้อประกันชีวิต การลงทุนในกองทุน เป็นต้น เพื่อมาเติมเต็มเป้าหมายที่เราวางไว้ได้ แต่ต้องศึกษาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอย่างละเอียด


ท้ายที่สุด อยากให้ทุกคนตระหนักว่า การวางแผนทางการเงินยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีเวลาสร้างรายได้และออมเงินมากขึ้น เมื่อวางแผนการเงินได้ดีแล้ว จะช่วยบรรเทาความกังวลต่าง ๆ ไประดับนึง ทำให้ชีวิตในบั้นปลายมีความสุขมากขึ้น เมื่อประกอบกับเรื่องอื่น ๆ เช่น การทำหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Advance Directive) หรือ Living Will เอาไว้ ซึ่งกำหนดความประสงค์ของเราอย่างชัดเจน ก็จะไม่ทำให้ลูกหลานต้องใช้เงินไปกับการรักษาที่เกินจำเป็น และยิ่งช่วยให้การจัดกระเป๋าเงินของเราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads