Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. ฮาราคีรี

ฮาราคีรี

กับการตั้งเป้าหมายการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

ขณะที่บางสังคมมองการฆ่าตัวตายว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่สังคมญี่ปุ่นโบราณเชื่อว่า “ฮาราคีรี” หรือการฆ่าตัวตายโดยใช้ดาบคว้านท้อง เป็นวิธีตายอย่างมีศักดิ์ศรีสูงสุด ดังนั้น การตายดีในมุมมองของคนหนึ่ง หรือสังคมหนึ่ง ๆ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน


การตายที่ดีของแต่ละคนเป็นอย่างไร จึงเป็นคำตอบที่ต้องคิดด้วยตนเอง


ถึงแม้คำตอบนี้ ผู้มีสุขภาพแข็งแรงอาจยังไม่ต้องหาข้อสรุปโดยเร็ว แต่สำหรับผู้ป่วยที่ยังมีเวลาเหลืออีกไม่มาก การสำรวจทัศนคติต่อการตาย เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพในช่วงเวลาที่ยังมีอยู่


หลักการหนึ่งของการดูแลแบบประคับประคอง คือ บุคลากรผู้ดูแลจะสนับสนุนให้ผู้ป่วยและครอบครัวคิดถึงการวางเป้าหมาย ด้วยการสอบถามความคาดหวังต่อการรักษา และหากเป็นไปได้ก็อยากทราบมุมมองเกี่ยวกับการตายดี เพื่อจะได้ให้การดูแลได้สอดคล้องกับความต้องการภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริง


บางคนต้องการรับการรักษาเพื่อต่อลมหายใจทุกวิธีทาง แต่บางคนไม่ต้องการถูกรบกวนจากกระบวนการยื้อชีวิต บางคนไม่ต้องการตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ให้คนรอบข้างทำตามความสะดวกและไม่เป็นภาระต่อครอบครัว ขณะที่บางคนยินดียอมรับความเจ็บปวดเพื่อจะได้ใช้กรรมให้หมดในชาตินี้ ความต้องการของผู้ป่วยนั้นหลากหลาย พอ ๆ กับความคาดหวังของครอบครัว


ดังนั้น ผู้ป่วยที่ยังมีสติสัมปชัญญะ ควรบอกความต้องการ และความคาดหวังต่อการรักษาแก่แพทย์และคนรอบตัว เพื่อให้พวกเขาสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตในช่วงท้ายตามที่ตนต้องการ


ในขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์มีส่วนสำคัญในกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง ในฐานะผู้ให้ข้อมูล แจ้งทางเลือกในการรักษา และผลกระทบของทางเลือกต่าง ๆ อย่างครบถ้วนแก่คนไข้และญาติ เพื่อวางแผนการรักษา


การวางแผนการรักษา โดยมีองค์ประกอบที่ควรพิจารณาให้ครบถ้วน ดังนี้

1 Think คิดและวางแผนการรักษา

2 Talk พูดคุยกับคนรอบข้าง

3 Discuss พิจารณาให้ถี่ถ้วนกับแพทย์และครอบครัวก่อนตัดสินใจ

4 Record บันทึกการตัดสินใจ อาจเขียนเป็น Living Will หรือให้ทีมแพทย์บันทึกลงในประวัติการรักษา

5 Share ส่งต่อบันทึกการตัดสินใจให้คนใกล้ชิด


ทั้งนี้ ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเอง แต่หากผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่ตัดสินใจ หรือสื่อสารเองได้ คนในครอบครัวที่ได้รับอนุญาตจากคนไข้จะเป็นผู้ตัดสินใจแทน โดยคนที่เกี่ยวข้องต้องไม่ลืมว่า การตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นหลัก


นี่คือหัวใจของการทำ Advance Care Planning หรือการดูแลสุขภาพล่วงหน้า ในกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads