Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. Family Meeting

Family Meeting

เป้าหมายที่มากกว่าการพูดคุย


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่รักษาได้ยากหรือรักษาไม่หาย แพทย์และผู้ป่วยจำเป็นต้องเปลี่ยนเป้าหมายการดูแล จากเดิมที่มุ่งรักษาให้หายขาด ไปสู่เป้าหมายอื่น ๆ 


…ผู้ป่วยบางคนต้องการมีชีวิตอยู่ให้ยาวนานที่สุด

…บางคนมีเป้าหมายขอให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นานที่สุด เพราะไม่อยากเป็นภาระต่อผู้อื่น

…บางคนไม่อยากให้ครอบครัวต้องสูญเงินไปกับการรักษาตนเอง

…บ้างต้องการทำตามความปรารถนาที่ผัดผ่อนมานาน

…หรือต้องการเพียงขอให้ได้จากไปตามธรรมชาติ ฯลฯ


เป้าหมายของผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน ร้อยคนก็ต้องการการดูแลร้อยแบบ อยู่ที่ว่าผู้ป่วยจะมีโอกาสบอกความต้องการของตนเองมาหรือไม่ 


สิ่งท้าทายในกระบวนการดูแลสุขภาพคือ ทำอย่างไรแพทย์ ผู้ป่วย และครอบครัว จึงจะสื่อสารและช่วยกันวางแผนการดูแลสุขภาพได้อย่างดีที่สุดในช่วงที่เหลืออยู่ 


รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ สะท้อนว่า อุปสรรคสำคัญของการตั้งเป้าหมายการดูแล คือ กระบวนการสื่อสารที่ไม่ดีเท่าที่ควรระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรสุขภาพ ครอบครัวมักไม่กล้าสื่อสารความจริงให้ผู้ป่วยได้รับรู้ เพราะกลัวจะเสียกำลังใจ กลัวผู้ป่วยจะรับความจริงไม่ได้ ส่วนแพทย์คุ้นเคยกับการให้ข้อมูล และเลือกวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามทัศนะทางการแพทย์ จนอาจละเลยการซักถามความคาดหวัง และความกังวลของครอบครัว ในขณะที่ผู้ป่วยบางส่วนอาจไม่กล้าสื่อสารสิ่งที่ตนเองต้องการ เป็นต้น 


ในกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง จึงสนับสนุนให้มีขั้นตอนของการกำหนดเป้าหมาย และวางแผนล่วงหน้าในหลายรูปแบบระหว่างการรักษา โดยเฉพาะการจัดกระบวนการสื่อสารที่เรียกว่า การประชุมครอบครัว (Family Meeting) โดยแพทย์จะเชิญผู้ป่วย และสมาชิกครอบครัวที่มีส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยมาประชุมร่วมกัน แพทย์เป็นผู้ให้ข้อมูลสุขภาพ พัฒนาการของโรค อาการข้างเคียง และทางเลือกในการรักษา ขณะเดียวกันก็รับฟังเสียงสะท้อนจากฝั่งครอบครัว เพื่อรับทราบจุดแข็ง ข้อจำกัด และความกังวลในการดูแลผู้ป่วย ทั้งสามฝ่ายจะได้กำหนดเป้าหมาย และวางแผนการรักษาที่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ดังนั้น การจัดประชุมครอบครัวจึงให้ประโยชน์อย่างมากแก่ทุกฝ่าย 


อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรอให้แพทย์เป็นผู้เรียกประชุมครอบครัว เพื่อสื่อสารข้อมูลแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น หากผู้ป่วยสามารถเริ่มต้นสื่อสารความต้องการ และถามหาทางเลือก ด้วยการสอบถามถึงแผนการดูแลสุขภาพของตน สอบถามภาวะโรคในขั้นปัจจุบันและขั้นต่อไป รวมทั้งบอกความต้องการว่าเวลาที่เหลืออยู่อยากได้การดูแลแบบใด อยากบรรลุเป้าหมายใด 


ด้วยวิธีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดระหว่างแพทย์และครอบครัว ผู้ป่วยจะเข้าถึงการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรข้อมูลจากงานอบรม “อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข” เวิร์คชอปสำหรับ Influencerr วันที่ 11 มกราคม 2560 ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads