Knowledge cover image
12 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. วิชาชีวิต : เตรียมตาย

วิชาชีวิต : เตรียมตาย

เคลียร์เรื่องเตรียมตายทั้งกายและใจกับ อุ๋ย บุดดา เบลส


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

ทำไมการตายต้องมีการเตรียมตัว 

การเผชิญความตายอย่างสงบทำได้จริงหรือไม่ 

ถ้าทำได้จริงแล้วเราจะทำอย่างไร? 


อุ๋ย นที เอกวิจิตร แห่งวงบุดดา เบลส ศิลปินนักดนตรีสายฮิปฮอป ที่สนใจเรื่องธรรมชาติและความหมายของการมีชีวิต ร่วมเชื่อมประสบการณ์สนทนากับ รศ.พญ.ปัทมา โกมุทบุตร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่องการเตรียมตายที่ทำได้อย่างมีคุณภาพชีวิตทั้งกับผู้ที่กำลังจะจากไปและผู้ที่ยังคงดำเนินชีวิต…ต่อไป


อุ๋ย บุดดา เบลส: เมื่อเรามั่นใจว่าเราดูแลตัวเองดีมาตลอด แต่ถึงวันที่ทราบว่าเป็นโรค มีความท้อแท้หมดหวังมาก จะเผชิญสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรครับ ?


คุณหมอปัทมา: สิ่งสำคัญในการเตรียมตัวตาย คือ การยอมรับความจริง ประสบการณ์ตรงที่หมอขอนำมาแบ่งปันคือ คนไข้ของหมอเอง เป็นผู้ประสบความสำเร็จรอบด้าน แต่ในที่สุดเป็นโรงมะเร็งปอดโดยที่ไม่ได้สูบบุหรี่ เมื่อรับการรักษาก็เกิดลามไปที่กระดูก จึงต้องมีการปรับแนวทางการรักษาโดยให้เคมีบำบัด ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ในทางรักษาตัวโรคให้หาย แต่เป็นการประคับประคองอาการ ผู้ป่วยเกิดอาการทุกขัง คือโกรธเพราะความเจ็บปวด หมอจึงปรับยาบรรเทาปวด ผลคือผู้ป่วยยังคงเจ็บปวดอยู่ คุณหมอถามว่ามีตรงไหนที่ปวดอีก ผู้ป่วยจับตรงที่ใจ แล้วบอกว่ามันปวดที่ใจ ซึ่งความจริงเป็นความเจ็บปวดทางจิตวิญญาณ


อุ๋ย บุดดา เบลส: ผลทางจิตใจมีผลเชื่อมโยงทางด้านร่างกาย เมื่อเกิดภาวะเครียด อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น เกิดความหงุดหงิด จิตของมนุษย์เป็นเรื่องทางจิตใจซึ่งมีผลกับร่างกาย นอกจากมีความทุกข์เพราะเจ็บปวดทางกาย ผนวกกับความคิดที่ซับซ้อน จึงทุกข์เพราะคิด ไม่คิดก็ไม่ทุกข์ เราจะรับมืออย่างไรกับความเจ็บปวดทางจิตใจ เพราะต้องทนอยู่ในสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ได้ยากครับ


คุณหมอปัทมา: พอถึงจุดที่ร่างกายเกิดเป็นโรค อะไรก็เกิดขึ้นได้ รับมือกับการไม่ยอมรับด้วยการยอมรับ มีผู้บุกเบิกด้านการแพทย์กล่าวไว้ว่า “การแพทย์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์แห่งความแม่นยำ แต่เป็นวิทยาศาสตร์แห่งความไม่แน่นอน” ยังมีปัจจัยที่ทางการแพทย์ยังแก้ไม่ได้ มุมมองทางการแพทย์ในความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ดังนั้นแพทย์จะทำเต็มที่ในเหตุเพื่อการรักษาให้ได้ผลดีที่สุด


อุ๋ย บุดดา เบลส: ผู้ที่รับรู้ข่าวร้ายแล้วยอมรับได้ เปิดใจในการตอบรับสาร เมื่อทำใจยอมรับได้ มีผลทำให้จิตใจไม่เครียด ไม่กระทบกับฮอร์โมน หรือการเกิดกรดมากเกินไป ถ้าปวดใจก็ต้องเตรียมใจ อะไรที่เตรียมด้วยระยะเวลานาน ได้ฝึกยอมรับในระดับหนึ่งถึงความไม่แน่นอนในชีวิต เมื่อถึงเวลาของสิ่งที่เกิดขึ้นจึงสามารถยอมรับได้


คุณหมอปัทมา: ผู้ป่วยที่ยอมรับได้เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็ง คือคนที่ฝึกเตรียมใจมา เมื่อใจยอมรับได้ อาจส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น


อุ๋ย บุดดา เบลส: การตายเป็นส่วนหนึ่งของการเจ็บป่วย ดังนั้น ถือเป็นหน้าที่ของหมอที่ต้องจัดการหรือไม่ การช่วยเหลือเพื่อการจัดการการตายให้ตายดี ช่วยให้ผู้ป่วยทรมานน้อยที่สุด ส่วนญาติหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถช่วยจัดการอะไรได้บ้าง ?


คุณหมอปัทมา: เรื่องบทบาทของหมอเป็นมุมมองที่อาจเป็นเรื่องซับซ้อนหลายมิติ คือนอกจากหมอทำหน้าที่รักษา แต่เมื่อเลยจากจุดที่จะรักษาได้ อีกมุมหนึ่งหาใช่การส่งคนไข้ให้ไปสงบอย่างเดียว หากแต่ในขณะเดียวกันเราทำหน้าที่ของความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่จะช่วยดูแลกัน โดยนำความรู้ทางการแพทย์มาใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมาน เพื่อให้เกิดความทุกข์น้อยที่สุด


อุ๋ย บุดดา เบลส: ผมคิดว่าไม่ใช่หน้าที่แพทย์อย่างเดียวครับ ญาติก็มีส่วนสำคัญมาก การที่จะทำให้เกิดความสบายใจ ญาติกับผู้ป่วยมีส่วนสำคัญมากกว่าหมอด้วยซ้ำไป ลำดับที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าตัว ต่อมาคือญาติ และถัดมาคือคุณหมอ


คุณหมอปัทมา: พอพูดถึงการตายที่ดี การตายดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นใครจะรู้ใจเราดีที่สุด เรื่องนี้สำคัญ…คนรอบข้างจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด การดูแลอย่างประคับประคอง ไม่ได้หมายถึงการดูแลในช่วงใกล้ตายอย่างเดียว หากเป็นการเตรียมตัวตายที่ไม่ได้เตรียมในสามวันสุดท้าย


อุ๋ย บุดดา เบลส: “ครับ…โลงไม่ได้มีไว้ใส่คนแก่ แต่มีไว้ใส่คนตาย คนตายมีได้ทุกวัยนะครับ” แล้วผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตจะมีลักษณะเป็นอย่างไรครับ (คำถามที่ส่งมาเป็นประโยชน์ เพื่อผมเองจะได้เข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่กำลังจะจากไปเช่นกัน)


คุณหมอปัทมา: การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงที่จะเสียชีวิต ในทางปฏิบัติ คือการปิดสวิตช์ร่างกายอย่างเป็นขั้นตอน ค่อย ๆ ปิดเหมือนการปิดไฟทีละดวง ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากเป็นไปตามธรรมชาติ เช่น การสังเกตอาการของผู้ป่วยมะเร็งในระยะเจ็ดวันสุดท้าย สมองเป็นศูนย์รวมของร่างกายให้ทำงานประสานกัน เปลือกสมองด้านนอกจะทำงานเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด ถัดเข้าไปเป็นเรื่องของการควบคุมอุณหภูมิ ความหิว ความอิ่ม และอารมณ์ ส่วนก้านสมองด้านในซึ่งเกี่ยวกับความอยู่รอด ระบบการกลืน การหายใจ เพราะฉะนั้นโดยลักษณะการทำงานก้านสมองจะเป็นส่วนที่ปิดสวิตช์ช้าที่สุด ความคิดที่ซับซ้อนของมนุษย์ถึงได้ทำให้เกิดเป็นทุกข์มากเป็นพิเศษ


ในช่วงสุดท้ายสมองจะการทำงานลดลง จะเห็นว่าคนไข้จะเริ่มตอบสนองช้า มีภาวะสับสน อาการทางสมองจะทำให้ ต่อมา เริ่มไม่อยากอาหาร ก่อนจะไปถึงสุดท้ายจะเห็นว่าใบหน้าเซียว ราบเรียบไม่มีแก้ม ตาจะปิดไม่สนิท กลืนน้ำลายไม่ได้ มักจะเป็นใน 2 - 3 วันสุดท้าย ขั้นตอนพวกนี้ต้องดูควบคู่กับโรคนั้น ๆ สิ่งที่หมอแลกเปลี่ยนคือสิ่งที่มีความจำเพาะสูง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะเป็นเช่นนี้เสมอไป ยังคงมีปัจจัยร่วมในความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เช่นกัน เราได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อการเตรียมตัว



อุ๋ย บุดดา เบลส: ถ้าเกิดมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน คุณหมอจะมีคำแนะนำในการจัดการอย่างไร เช่น เมื่อหัวใจและสัญญาณชีพยังคงเต้นอยู่ การตัดสินใจในการเจาะคอ เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน จะทำอย่างไรให้ลงตัว ?


คุณหมอปัทมา: เทคนิคในการสื่อสาร คือ การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน (Respect) สิ่งที่เราไม่นำสาเหตุของความคิดที่แตกต่างกันมาตัดสิน คือ “ความรัก” ความขัดแย้งที่เกิดจากการเห็นภาพไม่ตรงกัน จะแก้ไขได้ด้วยเวลา การมีประสบการณ์ร่วมอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เห็นการเปลี่ยนแปลง การมีแนวความคิดของตัวเอง เมื่อเห็นความจริงจะเกิดความเข้าใจ เวลาสามารถทำให้คนเห็นภาพตรงกันได้


อุ๋ย บุดดา เบลส: ถ้าพ่อแม่ยังสื่อสารได้อยู่ ควรเกิดการพูดคุยวางแผนเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ผมว่าจะทำให้เห็นภาพเดียวกันได้เร็วตั้งแต่แรก คนรอบข้างช่วยผู้ป่วยให้จากไปอย่างสงบได้อย่างไรบ้าง ?


คุณหมอปัทมา: เมื่อมีการเตรียมกันในครอบครัว ครอบครัวจะนัดกันว่าใครจะร้องไห้ก็ให้เดินออกไป ให้พูดแต่สิ่งดี ไม่ร้องไห้ อาจนำสไลด์ที่บันทึกเรื่องราวดี ๆ มาเปิดในห้องพัก การได้ยินเสียงพูดดี ๆ การสัมผัส รับรู้ได้ คลื่นสมองสามารถแปลงจากความวุ่นวายเป็นคลื่นอัลฟ่าที่ทำให้เกิดความสงบได้


อุ๋ย บุดดา เบลส: ครับ ถ้ามองข้ามเรื่องศาสนาไป ลองเปิดเพลงที่เป็นคลื่นอัลฟ่าที่ทำให้จิตสงบมากขึ้น เปิดให้ฟังก็ได้นะครับ 


ถ้าผู้ป่วยเลือกการตายที่ปรารถนาโดยมีการสั่งเสียไว้แล้ว เมื่อถึงเวลาป่วยจริง ๆ ลูกไม่อยากทำตามสิ่งที่สั่งไว้ สมมติว่าแม่ยืนกรานไม่ใส่ท่อช่วยหายใจในหลอดลม พอถึงเวลาแม่จะตายหายใจไม่ออก ลูกจึงอยากจะฝืนมติในความต้องการของแม่ที่เคยสั่งเสียไว้ หมอจะมีคำแนะนำอย่างไร ?


คุณหมอปัทมา: เรื่องนี้หมอคิดว่าประกอบไปด้วย 3 สิ่งคือ คิดดี พูดดี ทำดี คือเราต้องคิดดูสาเหตุก่อนว่าควรหรือไม่ หากเป็นกระบวนการที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต สิ่งที่คนไข้ต้องการเป็นเหตุเป็นผล ส่วนการพูดกับคนไข้และญาติ เราต้องใช้ทักษะอย่างเข้าใจ โดยให้ความสำคัญและสนใจอารมณ์ของผู้ที่เราคุยด้วย สมองที่คิดด้านเหตุผลจะถูกกดลงไป ส่วนทำดีคือ พูดเพื่อที่จะให้เข้าใจกัน การกระทำที่ทำให้คนไข้รู้สึกสงบ


อุ๋ย บุดดา เบลส: รู้สึกว่าได้เตรียมตัว เหมือนไปทำสอบมา แต่เมื่อถึงเวลาจริง ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะรู้สึกอย่างไร จะทำอย่างไรให้เกิดการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


คุณหมอปัทมา: ในตอนนั้นจะเป็นการควบคุมอาการ เมื่อถึงเวลาของสมองที่กำลังจะปิดตัวลง ก้านสมองจะแสดงอาการออกมา คือ คนไข้อาจจะไม่รู้สึกอะไรแล้ว แต่เป็นทุกข์ของลูกหลานที่รู้สึกไม่สบายใจ


อุ๋ย บุดดา เบลส: ในแง่ของด้านจิตใจคือ สมองยังสามารถรับรู้ได้ จึงให้พูดถึงสิ่งดี ๆ เพื่อการจากไปที่ดีตามที่คุณหมอเล่าให้ฟังนะครับ


ส่งท้ายได้ดีมากว่า…เรื่องเตรียมตัวตายเป็นเรื่องน่าสนใจ มีประโยชน์ตรงที่พวกเราได้มาเตรียมตัวกันก่อน เหมือนติวก่อนถึงวันสอบจริง เพราะทุกคนต้องไปสอบไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ติวกันสักนิดก็ยังดี โดยชักชวนพ่อแม่พี่น้องมาเตรียมตัวก่อนวันสอบจริง ได้ใช้แน่นอนไม่วันไหนก็วันหนึ่งครับ


*ชม LIVE “วิชาชีวิต: เตรียมตาย” แบบเต็ม ๆ ได้ที่ https://youtu.be/83GjCHAMDJk

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads