Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. เยียวยาใจหลังสูญเสีย

เยียวยาใจหลังสูญเสีย

การดูแลอย่างเหมาะสมในภาวะเศร้าเสียใจภายหลังการสูญเสีย


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

การสูญเสียพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือลูกหลาน ย่อมนำความโศกเศร้าเสียใจมาให้กับผู้คนในครอบครัวเป็นธรรมดา แต่การปรับจิตใจให้สามารถยอมรับ และดำเนินชีวิตต่อไปหลังการสูญเสียของแต่ละคน ก็มีความแตกต่างกันออกไป บางคนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติในระยะเวลาไม่นาน แต่มีอีกหลายคนที่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลหากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที 


มีหลักฐานจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้คนจำนวนมากที่มีภาวะเศร้าเสียใจภายหลังการสูญเสีย หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จะมีอายุสั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ และประมาณ 1 ใน 3 จะเกิดปัญหาสภาวะเศร้าซึมที่กระทบกระเทือนต่อการดำรงชีวิตได้ 


ทำไมความเศร้าถึงไม่คลี่คลายเมื่อสูญเสีย


เพราะรู้สึกผิด

ผู้สูญเสียจำนวนมาก มีความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถอธิบาย หรือก้าวข้ามได้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการดูแลที่คิดว่าทำได้ไม่ดีพอ หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการดูแลคนที่เรารัก ความรู้สึกนี้จึงคุกคามจิตใจ เมื่อไม่ได้รับการเยียวยาก็จะกำเริบ ทำให้เกิดความเศร้าที่ควบคุมไม่ได้เป็นระยะ จนบางคนไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติ เพราะพะวงถึงเรื่องที่ทำให้รู้สึกผิดตลอดเวลา


เพราะรู้สึกเสียดาย

ความรู้สึกเสียดายเกี่ยวพันกับความรู้สึกผิดเช่นกัน อาจเสียดายเวลา หรือโอกาสที่ไม่ได้ใช้กับผู้ป่วย ความรู้สึกนี้อาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความรู้สึกผิด หรือเกิดขึ้นเมื่อมีเวลาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น โดยความเศร้ามักจะดำรงอยู่เป็นเวลานานเพราะความรู้สึกอยากย้อนเวลากลับไปแก้ไข


เพราะรู้สึกโกรธ

ผู้สูญเสียอาจมีความรู้สึกโกรธในสิ่งที่ผู้ป่วยได้กระทำในขณะที่มีชีวิตอยู่ ความเศร้านี้จะคงอยู่จนกว่าจะเข้าใจว่า มีความรู้สึกโกรธ และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ความโกรธมักเผาลนจิตใจอยู่เสมอ จนกว่าจะสามารถยอมรับสิ่งร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นและหาประโยชน์จากมันให้เจอ หรือได้เอ่ยคำขอโทษ และให้อภัย


เพราะรู้สึกไร้คุณค่า 

เมื่อผู้ป่วย ผู้สูญเสีย มองไม่เห็นประโยชน์ของการมีชีวิตอยู่ สูญเสียความรักและผูกพันที่เคยมี ทำให้เกิดความรู้สึกด้อยค่า หรือไร้ความหมาย หากมีความรู้สึกเช่นนี้ ควรได้รับการเยียวยาที่อ่อนโยน เพื่อคลี่คลายความรู้สึกที่ฝังลึกให้กลายเป็นความปกติสุขได้


เพราะผลักไสความเศร้า

หลายครั้งการผลักไสความเศร้า โดยพยายามใส่ใจกับสิ่งนอกตัว แต่ละเลยใจของตัวเองที่กำลังเจ็บปวด การยิ่งฝืนไม่ยอมรับ ความเศร้าก็ยิ่งดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อหยุดและหันกลับมาดูแลใจ ความเศร้าก็จะได้รับการเยียวยา และเปลี่ยนเป็นพลังชีวิตได้


การดูแลความเศร้าโศกหลังการสูญเสียเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม จึงไม่ได้สิ้นสุดเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการติดตามดูแลความเศร้าโศกของญาติ หรือผู้ดูแล หลังการสูญเสียด้วย เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ


นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี หนึ่งในผู้บุกเบิกงานด้านการดูแลแบบประคับประคองในเมืองไทย กล่าวถึงหลักในการดูแลหลังการสูญเสียไว้ในบทความ "การดูแลหลังการสูญเสีย เปลี่ยนความเศร้าเป็นเข้าใจ" ในจดหมายข่าวอาทิตย์อัสดง ว่า 


การดูแลหลังการสูญเสียต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนผู้ป่วยจะเสียชีวิต โดยการประเมินสภาวะของญาติผู้ดูแลว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดความโศกเศร้าเกินกว่าปกติหรือไม่ เช่น ดูประวัติสุขภาพจิตของญาติผู้ดูแล ดูลักษณะหรือรูปแบบการเสียชีวิตว่าเป็นอย่างไร เช่น หากผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นลูก ย่อมมีโอกาสส่งผลกระทบต่อพ่อแม่มากกว่าปกติได้ หรือดูลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับญาติผู้ดูแล ว่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ยังอยู่ต่อไปในลักษณะไหน 


การดูแลหลังการสูญเสีย จึงต้องดูแลคาบเกี่ยวไปถึงก่อนผู้ป่วยจะเสียชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ คุณสุรีย์ ลี้มงคล พยาบาลศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ว่า


“งานดังกล่าวจะต้องเริ่มไปพร้อม ๆ กับการดูแลแบบประคับประคอง โดยเฉพาะหากผู้ป่วยและญาติมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน การคลี่คลายปมปัญหาในใจของผู้ป่วยหลาย ๆ คน จึงต้องดำเนินการเสียแต่ในขณะที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ เพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความรู้สึกติดค้างในใจต่อกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจากไปอย่างสงบแล้ว ยังจะช่วยป้องกันผลกระทบในด้านลบที่จะมีต่อญาติผู้ดูแลต่อไปในอนาคตด้วย”

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรข้อมูลจาก เว็บไซต์เผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพทธิกา อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.budnet.org/sunset/node/15

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads