Knowledge cover image
12 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. การดูแลแบบประคับประคอง ทางเลือกเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้าย

การดูแลแบบประคับประคอง ทางเลือกเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้าย

บทความจากหมอ Palliative care


เรื่องโดย หมอนัท เพราะความตายออกแบบได้

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขียนบทความเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง นอกเหนือจากการเขียนลงใน Facebook page หมอนัท เพราะความตายออกแบบได้ ซึ่งก็ทำให้ผมได้มีโอกาสมาทบทวนว่า ผมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองไปทำไม เขียนเพื่อใคร และสิ่งที่ผมหวังจากการเขียนนั้นคืออะไร


ในการดูแลแบบประคับประคองนั้น มีผู้เล่น 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ทีมหมอ ผู้ป่วยและญาติ และระบบการให้บริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคอง ที่ต้องทำงานสอดประสานกัน เพื่อให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างที่ตนเองปรารถนาและจากไปอย่างสงบสุข ไม่ถูกยื้อชีวิต (ยื้อความตาย) โดยไม่จำเป็น ซึ่งผมจะขอเขียนถึงความสำคัญของแต่ละส่วนในบทความนี้


สำหรับทีมหมอนั้น ถึงแม้ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การดูแลแบบประคับประคองจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก ทั้งเรื่องแนวคิดการดูแลแบบประคับประคองและการจัดการอาการที่ไม่สุขสบาย สิ่งที่พบเห็นได้บ่อยเกี่ยวกับแนวคิดการดูแลแบบประคับประคองในมุมมองของหมอและพยาบาล ก็คือ การดูแลแบบประคับประคองเท่ากับ Non-resuscitation หรือการไม่ทำการกู้ฟื้นคืนชีพ ได้แก่ การปั๊มหัวใจ การกระตุกหัวใจ การใส่ท่อช่วยหายใจและการใช้เครื่องช่วยหายใจ และในส่วนของการใช้ยามอร์ฟีนหรือยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่นเพื่อจัดการความเจ็บปวดและความเหนื่อย ซึ่งหมออาจจะให้มากไปจนกดการหายใจของคนไข้ ทำให้คนไข้หลับลึก หรือน้อยไป ทำให้ไม่ได้ผล รวมถึงการไม่ได้จัดการผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยามอร์ฟีนอย่างเหมาะสม เช่น ท้องผูก คัน คลื่นไส้ เป็นต้น 


การปรับมุมมองของทีมหมอให้ถูกต้องว่า การดูแลแบบประคับประคอง เป็นแนวทางการดูแลรักษาสำหรับคนไข้ระยะท้าย ที่ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนั้น หรือภาวะแทรกซ้อนในระยะเวลาอันสั้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ป่วยสุขสบายมากที่สุด ทุกข์ทรมานน้อยที่สุด และไม่ยื้อชีวิตเมื่อความตายมาถึง เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดูแลผู้ป่วยและญาติด้วยความเมตตา และใช้ความรู้ทางการแพทย์ที่ถูกต้องเพื่อจัดการอาการที่ไม่สุขสบาย รวมถึงการวางแผนล่วงหน้าเกี่ยวกับการดูแลรักษาและเรื่องสำคัญอื่น ๆ ในชีวิตของผู้ป่วย ก่อนที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวในอนาคต 


สำหรับผู้ป่วยและญาติ ความเข้าใจในการดูแลแบบประคับประคองมีความหลากหลายมาก ทั้งความเข้าใจที่ถูกต้อง และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน รวมถึงความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับยามอร์ฟีนเช่นกันกับทีมหมอ หากผู้ป่วยและญาติมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง และเข้าใจถึงบทบาทของการดูแลแบบประคับประคองว่า ในช่วงต้นของความเจ็บป่วยนั้น การดูแลแบบประคับประคองจะมีบทบาทน้อย เน้นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมหมอ ผู้ป่วยและญาติ และการวางแผนการดูแลรักษาล่วงหน้า เมื่อเวลาผ่านไป การรักษาหลักกับหมอเฉพาะทางเริ่มไม่ได้ผล เริ่มไม่มีประโยชน์ เริ่มมีบทบาทน้อยลง การดูแลแบบประคับประคองก็จะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเข้าใจในระยะของการดูแลแบบประคับประคองและการจัดการอาการที่กำลังเกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นในอนาคต 


จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่ยอมรับว่าตัวเองป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวในเวลาอันใกล้ และยอมรับการดูแลแบบประคับประคองตั้งแต่เนิ่น ๆ มีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสุดท้ายในชีวิต มากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต เหตุผลหนึ่งก็คือ การเข้าถึงยามอร์ฟีนที่เร็วกว่า ไม่กลัวการใช้มอร์ฟีน และสามารถใช้มอร์ฟีนเพื่อจัดการอาการโดยได้รับผลข้างเคียงจากมอร์ฟีนน้อยที่สุด จึงทำให้ผู้ป่วยสุขสบายจากโรคที่เป็น ถึงแม้ว่าโรคจะลุกลามไปมากก็ตาม


ในส่วนสุดท้ายคือ เรื่องของระบบ การดูแลแบบประคับประคองนั้นเป็นการดูแลเชิงรุก ต้องใช้ทรัพยากรและการสนับสนุนเชิงนโยบาย ในการให้การดูแลแบบประคับประคอง ทั้งในเรื่องความเพียงพอของบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง และการจัดการอาการ เรื่องระบบการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติที่รับการดูแลรักษาที่บ้าน เรื่องการใช้ยาในกลุ่มมอร์ฟีนและยาที่ใช้จัดการอาการ ที่มักมีรูปแบบการให้แตกต่างจากการรักษาเฉพาะทางอื่น เช่น การให้ใต้ผิวหนัง การให้อมใต้ลิ้น การหยดที่กระพุ้งแก้ม และการเหน็บทวาร เป็นต้น และเรื่องค่าตอบแทนที่เหมาะสม


หากเปรียบเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ (2565) ถือว่าระบบที่เอื้อให้เกิดการดูแลแบบประคับประคองอย่างมีประสิทธิภาพมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ทั้งการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องนโยบายและการฝึกอบรม การสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับการดูแลแบบประคับประคอง และการสนับสนุนในระดับพื้นที่ ทั้งจากจังหวัดและอำเภอ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น


กล่าวโดยสรุป ความมุ่งหวังหลักของการทำเพจหมอนัท เพราะความตายออกแบบได้ ของผมนั้น คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง เพราะเชื่อว่ามีผลในวงกว้างมากกว่าการพูดให้ผู้ป่วยและญาติฟังเป็นราย ๆ ไป โดยเชื่อว่าเมื่อผู้ป่วยและญาติเข้าใจมากขึ้น จะกล้าที่จะพูดคุย ซักถาม และปรึกษากับทีมหมอ รวมถึงการยอมรับการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้ตัวเองมีโอกาสได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสุดท้ายของชีวิต มากกว่าการใช้ชีวิตบนเตียงในโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยสายระโยงระยาง และจากไปในสภาพนั้น


และหากมีหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์มาอ่าน ก็จะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น หรือเห็นถึงความสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง สามารถที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจว่ามีทางเลือกการดูแลรักษานี้อยู่

หมอนัท เพราะความตายออกแบบได้ avatar image
เรื่องโดยหมอนัท เพราะความตายออกแบบได้นามปากกาจากชื่อเพจของ นพ.พสิษฐ์พล วัชรวงศ์วาน แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม และอาจารย์ประจำที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ดูแลคนไข้ระยะท้ายมา 5 ปี และคาดหวังให้คนไข้ระยะท้ายได้มีโอกาสใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างที่ตั้งใจไว้ ก่อนจะจากไปอย่างสงบท่ามกลางคนที่รัก

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads