Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. Living Will มีผลทางกฎหมายหรือไม่

Living Will มีผลทางกฎหมายหรือไม่

สิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

เมื่อปี พ.ศ. 2550 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นเพียงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่กฎหมายยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนโดยทั่วไปด้วย เพราะได้นิยามความหมายของคำว่า “สุขภาพ” ในภาพกว้าง และมีสาระสำคัญในเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต (Advance Directives) หรือ Living Will 

 

มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ บัญญัติไว้ว่า 

“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้


การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

 

มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลสามารถแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จะขอจากไปตามวิถีธรรมชาติ โดยไม่ประสงค์จะให้ใช้เครื่องมือต่าง ๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่มายืดความตายออกไป จึงเป็นการรับรองสิทธิของผู้ป่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง (right to self – determination) ที่จะขอตายอย่างสงบตามธรรมชาติ และการแสดงเจตนาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการุณยฆาต (Mercy Killing) ไม่ใช่กรณีเร่งการตายที่เป็น Active Euthanasia 

 

เมื่อมีการเขียน Living Will ขึ้นมา จึงเป็นแนวทางให้แพทย์ได้เดินไปในแนวทางของ Passive Euthanasia โดยไม่ใช้เครื่องมือต่าง ๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ และใช้แนวทางการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อรักษาตามอาการ บรรเทาความเจ็บปวด และช่วยให้จากไปอย่างสงบตามวิถีแห่งธรรมชาติ 

 

อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ คือ มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ใน “วาระสุดท้ายของชีวิต” เท่านั้น ถ้าเป็นกรณีที่ยังรักษาได้ ก็จะต้องรักษากันไปตามปกติ หรือกรณีฉุกเฉินที่จะต้องช่วยชีวิตก็รักษาพยาบาลกันไปตามความรู้และจริยธรรมวิชาชีพ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทำ Living Will ไว้ว่า ไม่ขอใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่เกิดอุบัติเหตุรถชน แพทย์ฉุกเฉินสามารถตัดสินใจใส่เครื่องช่วยหายใจได้เพื่อช่วยชีวิตได้ 

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไร ผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต 

ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ให้นิยามไว้ว่า “วาระสุดท้ายของชีวิต” หมายความว่า ภาวะของผู้ทําหนังสือแสดงเจตนาอันเกิดจากการบาดเจ็บ หรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาได้วินิจฉัยจากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ว่า ภาวะนั้นนําไปสู่การตายอยางหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาอัน ใกล้จะถึง และให้หมายความรวมถึงภาวะที่มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ที่ทําให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร 

 

แพทย์จะปฏิเสธการทําตาม Living will ได้หรือไม่ 

โดยหลักกฎหมาย ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ หากแพทย์ทําตาม Living will กฎหมายได้บัญญัติรองรับไว้แล้ววา การกระทําของแพทย์ไม่มีความผิดใด ๆ แต่ถ้าจะปฏิเสธการทําตาม Living will ต้องขึ้นกับเหตุผลในกรณีอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยเขียน Living will ไว้ว่า ไม่ประสงค์ให้ใส่เครื่องช่วยหายใจในระยะสุดท้ายของชีวิต แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าว ญาติบอกแพทย์ว่า บุตรของผู้ป่วยกำลังเดินทางมาจากต่างประเทศ และเป็นบุตรที่ผู้ป่วยมีความรักความผูกพันมาก ขอให้แพทย์ช่วยใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อยืดเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ควรรับฟังความเห็นและคําขอของญาติ เป็นต้น

 

แม้ทำ Living will ไว้ แต่ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลรักษาต่อไป แม้แพทย์ไม่สามารถรักษาให้หายจากโรคได้ แต่โดยจริยธรรมแห่งวิชาชีพยังคงให้การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรเรียบเรียงข้อมูลจาก หลักการมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ คือ สิทธิที่จะขอตายตามธรรมชาติ โดย ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads