Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

บทเรียนจากนครศรีธรรมราช


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

“… ตายเมื่อตาย ย่อมกลาย ไปเป็นผี ตายไม่ดี ได้เป็นที่ ผีตายโหง ตายทำไม เพียงให้ เขาใส่โลง ตายโอ่โถง นั้นคือตาย เสียก่อนตาย…”


วรรคหนึ่งในบทกลอนที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่แสดงคติธรรมไว้ให้ชาวพุทธได้ตระหนักถึง “การตายก่อนตาย” เพราะคนส่วนใหญ่มองว่า ความตายเป็นเรื่องของอนาคต หากแต่ความจริงแล้ว ความตายเกิดขึ้นทุกช่วงขณะ 


คำถามคือในช่วงเวลาสุดท้ายซึ่งเราจะต้องพบอย่างแน่นอน เราจะจัดการอย่างไรในวันนั้น เพื่อให้การจากไปมีคุณภาพและงดงาม


ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์ และที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า 


“ชีวิตของคนยุคนี้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า แต่คนมองเรื่องความตายแบบถอยหลัง มองว่าความตายเป็นเรื่องน่ากลัว แทนที่จะได้รับความรู้ในการวางแผน กลับเสียโอกาสเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย” 


ความตายแม้เป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่เราสามารถออกแบบวางแผนได้ระดับหนึ่ง ด้วยการทำ Living Will หรือหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต การเขียนแสดงความต้องการในเอกสารนี้จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างญาติผู้ป่วย และทีมสุขภาพ รวมถึงสามารถบอกความต้องการอื่น ๆ เมื่อถึงวาระสุดท้าย 


ปัจจุบัน Living will มีกฎหมายรองรับ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่เขียนว่า


“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงการยืดการตายในวาระสุดท้ายของตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้  


การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง 


เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง”


พว.อมรพันธุ์ ธานีรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เสริมว่า บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมเราต้องมาเขียน Living Will บอกกันด้วย 


“เหตุที่เราต้องเขียน เพราะเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว อำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจะไปอยู่ในที่ญาติและผู้ให้บริการสาธารณสุข ซึ่งบ่อยครั้งที่การตัดสินใจของทั้งสองฝ่ายนี้ไม่ตรงกัน จนเกิดเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและทีมสุขภาพ นอกจากนี้ สิ่งที่ทำลงไปอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ”


คุณอมรพันธุ์เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์จริงที่มีผู้ป่วยมะเร็งได้แสดงความจำนงไว้ว่า เธอจะไม่ขอใส่เครื่องช่วยหายใจ เพราะเธอคิดว่าหากต้องตาย ขออย่าต้องทรมานจากการใส่เครื่องมือแพทย์ และขอรับการการดูแลแบบประคับประคอง เธอได้บอกกับพ่อแม่ของเธอไว้ แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น


ในช่วงที่เธออาการโคม่าที่บ้าน ญาติได้พาเธอไปโรงพยาบาล ทีมแพทย์ฉุกเฉินก็ใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อรักษาชีวิตของเธอไว้ตามปกติ และเมื่อถึงวาระสุดท้ายเธอได้ขอให้แพทย์ พ่อแม่ และญาติพี่น้อง ให้ช่วยถอดท่อช่วยหายใจอีกครั้งและจากไปอย่างสงบ 


ดังนั้น การเขียน Living Will หรือแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรจะช่วยให้มีหลักฐาน เพื่อสื่อสารกับแพทย์ได้อย่างมั่นใจขึ้น ทั้งนี้ การเขียนเอกสารมิใช่การขอเร่งให้ตายเร็วขึ้น แต่เป็นการขอตายอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ มิใช่การอยู่เพราะการยืดชีวิตจากเครื่องมือแพทย์


Palliative Care คืออะไร

นพ.ธารินทร์ เพ็ญวรรณ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กล่าวถึงความหมายของคำนี้ไว้ว่า 


“Palliative Care คือ การดูแลผู้ป่วยและญาติแบบเชิงรุก องค์รวม ในกลุ่มโรคที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่เน้นให้หายขาด โดยเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยมีความสุขสบาย ไม่ทุกข์ทรมานจากตัวโรคและอาการต่าง ๆ” 


กลุ่มโรคที่ต้องการการดูแลแบบ Palliative Care ได้แก่ โรคมะเร็ง อัมพาต/สมองขาดเลือด ผู้ป่วยไตวาย โรคหัวใจวายและปอดอุดกั้นระยะท้าย ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุติดเตียง ผู้ป่วย HIV/AIDS ผู้ป่วยเด็กระยะท้าย และผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม


ซึ่งการดูแลแบบนี้สิ่งที่แพทย์สามารถทำให้กับคนไข้ได้คือ บรรเทาอาการจากโรค บรรเทาอาการปวด ดูแลจิตใจของผู้ป่วย ดูแลจิตใจของญาติ

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรเรียบเรียงข้อมูลจาก Workshop การอบรม “อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข ” 31 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมตะมาลี จ.นครศรีธรรมราช จัดโดย ชีวามิตร สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads