Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. เรียนรู้ - ดูแลคุณภาพชีวิตระยะท้ายผ่านคำศัพท์สำคัญ

เรียนรู้ - ดูแลคุณภาพชีวิตระยะท้ายผ่านคำศัพท์สำคัญ

ความหมายและแนวทางการดูแลชีวิตให้ "อยู่ดี - ตายดี"


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเชื่อว่าจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว การศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องการดูแลชีวิตในบั้นปลายให้มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ควรละเลย วันนี้เราจึงรวบรวมคำศัพท์สำคัญเกี่ยวข้องกับการดูแลคุณภาพชีวิตระยะท้ายมาฝากกัน โดยนำข้อมูลบางส่วนจากประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง นิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) สำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2563


Palliative Care 

การดูแลแบบประคับประคอง

การดูแลผู้ที่มีภาวะจำกัดการดำรงชีวิต (Life Limiting Conditions) หรือภาวะคุกคามต่อชีวิต (Life Threatening Conditions) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและบำบัด เยียวยาและบรรเทา ความทุกข์ทางกาย จิต อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิต โดยครอบคลุมถึงครอบครัวและผู้มีความสัมพันธ์ของผู้นั้นด้วย ทั้งนี้ อาจจัดบริการทั้งในและนอกสถานบริการ


End-of-Life Care 

การดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิต

การดูแลผู้ป่วยในช่วงใกล้เสียชีวิตโดยมีเป้าหมาย คือ การให้ผู้ป่วยตายดี


Hospice Care 

การดูแลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้าย

หลักการหรือแนวทางการดูแลสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตระยะท้ายแบบองค์รวม ทั้งของผู้ป่วยและของคนใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขสบายที่สุดเท่าที่จะทําได้ 


Comfort Care 

การดูแลให้เกิดความสุขสบาย 

การดูแลที่มุ่งเน้นบรรเทาอาการที่รบกวนคุณภาพชีวิตต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้นานที่สุด และทำในสิ่งที่ปรารถนาได้ในเวลาที่เหลืออยู่ 


Advance Care Planning

การวางแผนการดูแลล่วงหน้า

กระบวนการการวางแผนดูแลสุขภาพที่ทำไว้ ก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดความสามารถในการตัดสินใจ หรือเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิต อาจเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ โดยอาจจะใช้กระบวนการสนทนาปรึกษาร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และทีมบุคลากรสุขภาพ หรือผู้ป่วยอาจทำได้ด้วยตนเอง หรือปรึกษาสมาชิก ครอบครัว หรือปรึกษาบุคลากรสุขภาพ 


Advance Directive / Living Will 

หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข

หนังสือซึ่งบุคคลแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่าไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืด การตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย


Quality of Life 

คุณภาพชีวิต

การให้ความหมายและคุณค่าของชีวิตตามความชอบ ความเชื่อ และความศรัทธาของบุคคลในทุก ๆ มิติของชีวิต รวมถึง สุขภาวะ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และปัจจัยแวดล้อมทุกด้าน ซึ่งการให้ความหมาย และคุณค่านี้สามารถแปรเปลี่ยนไปตามบริบท


Patient-Centered Care 

การดูแลที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

การดูแลผู้ป่วยที่ยึดถือมุมมองจากประสบการณ์ ความคาดหวัง และความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยยังคงรักษาสิทธิ ความประสงค์ เคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย โดยการทำความเข้าใจชีวิตในภาพรวมตาม ความคาดหวัง ความต้องการของผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแล และนำไปสู่การออกแบบการดูแลแบบองค์รวม


Death 

การตาย

ภาวะที่หัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต หรือระบบประสาท ก้านสมอง หยุดทำงานอย่างถาวร


Good Death 

การตายดี

การตายโดยที่ผู้ป่วยได้รับรู้ว่า ความต้องการของเขาได้รับการดูแลให้ปลอดจากความทุกข์ทรมานทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ตั้งแต่ก่อนเข้าถึงช่วงใกล้ตาย สมาชิกในครอบครัวและทีมสุขภาพมีความเคารพและยอมรับความต้องการของผู้ป่วย


Withholding Life-Sustaining Treatment / Withdrawing Life-Sustaining Treatment 

การยับยั้งการรักษาพยุงชีพ และการถอด ถอนการรักษาพยุงชีพ

การตัดสินใจไม่เริ่มใช้ ไม่เพิ่มระดับการรักษาพยุงชีพ (Withholding Life-Sustaining Treatment) การหยุด หรือถอดถอนการรักษาพยุงชีพ (Withdrawing Life-Sustaining Treatment) สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เมื่อพิจารณาแล้วว่า การรักษาหรือใช้เครื่องพยุงชีพนั้น ผลการรักษาแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิต และก่อผลเสียหรือภาระมากกว่าประโยชน์ที่ได้ โดยผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ตัดสินใจแทนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีนี้เอง ภายหลังจากที่ได้รับข้อมูลครบถ้วน ทั้งนี้ การยับยั้งการรักษาพยุงชีพ และการถอดถอนการรักษาพยุงชีพ มิใช่เป็นการทำการุณยฆาต (Euthanasia)


Caregiver 

ผู้ดูแล

ผู้ให้การดูแลหรือช่วยเหลือทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ แก่ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ ผู้ป่วย เรื้อรัง หรือผู้ที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิต


Interdisciplinary Team

ทีมสหสาขาวิชา

กลุ่มของผู้ให้การดูแลที่มีความรู้ความสามารถหลากหลาย ทำงานร่วมกันในหน่วยงาน หรือระบบเดียวกัน รวมถึงชุมชนที่ผู้ป่วยพำนักอยู่ เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัว ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และทางสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้นำศาสนา อาสาสมัคร และอื่น ๆ โดยสมาชิกของทีมมีการประสานการทำงานร่วมกัน

 

สำหรับคนที่อยากอ่านข้อมูลฉบับเต็ม ๆ สามารถคลิกไปอ่าน และดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/261/T_0003.PDF

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรเรียบเรียงข้อมูลจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/261/T_0003.PDF

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads