- คลังความรู้
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Hospice care
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Hospice care
กับคำตอบของหลักการดูแลสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตระยะท้ายแบบองค์รวม
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
ถึงแม้ว่าการดูแลแบบประคับประคองจะได้รับการยอมรับว่า ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตช่วงท้าย และเอื้อต่อการตายดี แต่สำหรับบางครอบครัวก็ยังอ่อนไหว หากจะคุยเรื่องการเตรียมตัวตายกับคนที่กำลังป่วยหนัก ส่วนหนึ่งเพราะยังมีความเข้าใจผิดหลายประการเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) และ Hospice care ได้แก่
Hospice เป็นสถานที่เฉพาะสำหรับดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น
แต่ความจริง คือ Hospice ไม่ใช่สถานที่สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายในช่วงวันท้าย ๆ เท่านั้น แต่หมายถึง หลักการ หรือแนวทางการดูแลสุขภาพ ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตช่วงท้าย ทั้งของผู้ป่วย และของคนใกล้ชิด หลักการนี้จึงครอบคลุมทั้งการดูแลที่บ้าน โรงพยาบาล หรือแม้แต่สถานพักฟื้นผู้สูงวัย และใน Hospice ด้วย
เมื่อหมดหนทางรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการอื่น ๆ แล้ว ผู้ป่วยจึงจะได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
แต่ความจริง คือ การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ควรดูแลควบคู่ไปกับการรักษาโรค (Curative care) เพราะการดูแลแบบประคับประคองมุ่ง ‘เพิ่มคุณภาพชีวิต’ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยอยู่รักษาโรคทางกาย และดูแลมิติจิตใจ จิตวิญญาณ และสังคมได้อย่างผาสุก ปัจจุบันการแพทย์พบว่า หลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรงแล้ว ถ้าได้รับการดูแลแบบประคับประคองเลย จะเกิดประโยชน์สูงสุด
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้าน ให้ประโยชน์น้อย เพราะที่บ้านทำอะไรได้ไม่มากนัก
แต่ความจริง คือ ถึงแม้ว่าบ้านจะมีข้อจำกัดด้านสถานที่ อุปกรณ์ หรือบุคลากรการแพทย์ แต่การดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน (Palliative Home Care) บวกกับการวินิจฉัยที่ดี การเสริมสร้างทักษะผู้ดูแลที่บ้าน และการสนับสนุนอุปกรณ์การดูแล ก็ให้ประโยชน์กับผู้ป่วยที่มีความผูกพันกับบ้านและชุมชน หรือผู้ป่วยที่เดินทางได้ไม่สะดวกได้อย่างมากเช่นกัน นอกจากครอบครัวจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้อยู่ในสถานที่คุ้นเคยและอยู่กับคนที่รักได้มากขึ้นด้วย
ถ้าหมอและพยาบาลมาเยี่ยมบ้านบ่อย ๆ แสดงว่าผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตแล้วแน่ ๆ
แต่ความจริง คือ ผู้ป่วยและครอบครัวที่เจ็บป่วยยาวนาน มักหมดหวังและไม่อยากจะสู้ต่อ การมีแพทย์มาเยี่ยมติดตาม ช่วยคลายความกังวลของญาติได้มาก ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจที่มีบุคลากรสุขภาพมาเยี่ยม นอกจากนี้ บางทีแพทย์ก็มาเยี่ยมเพราะสนิทสนมคุ้นเคยกัน มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน
การให้มอร์ฟีน ควรให้เฉพาะตอนผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตแล้วเท่านั้น เพราะมอร์ฟีนจะทำให้ผู้ป่วยหมดสติ
แต่ความจริง คือ ผู้ป่วยและญาติมักลำบากใจที่จะต้องใช้ยามอร์ฟีนเพื่อจัดการอาการไม่สุขสบายของผู้ป่วย ทั้งที่ มอร์ฟีนเป็นยาในกลุ่ม Opioid มีประสิทธิภาพในการลดปวด และช่วยเรื่องการหายใจอย่างมาก หากคำนวณตัวยาอย่างเหมาะสม จะช่วยลดอาการปวด อาการไม่สุขสบายอื่น ๆ โดยผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะอยู่
เมื่อใช้ยาลดปวดไประยะหนึ่งจะเกิดอาการเสพติด ปริมาณยาที่เคยใช้ได้ผล เมื่อใช้ไปนาน ๆ อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป
แต่ความจริง คือ การควบคุมความปวดด้วยยา ต้องคำนวณปริมาณยาตามความปวด และอาการไม่สุขสบายจากโรค หากก้อนเนื้อใหญ่ขึ้นจะเบียดอวัยวะข้างเคียง ทำให้ปวดมากขึ้น แพทย์จึงต้องเพิ่มปริมาณยาลดปวดมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อควบคุมอาการ การเพิ่มปริมาณยานี้จึงมิใช่เพราะผู้ป่วยเสพติด หรือเพราะยาไม่ออกฤทธิ์
ผู้ป่วยที่หมดสติจะหิว เพราะผู้ป่วยไม่ได้กินมาเป็นเวลานาน
ญาติมักรู้สึกผิดเมื่อผู้ป่วยไม่ได้กินอาหารเป็นเวลานาน เพราะโดยปกติ เราจะเตรียมอาหารให้คนที่เรารักกิน และกินกันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรืดหมดสติ ระบบอวัยวะต่าง ๆ จะหยุดทำงาน ร่างกายจึงไม่จำเป็นต้องใช้พลังงาน และไม่ต้องกินอาหาร ในทางตรงข้าม การบังคับให้ผู้ป่วยกินทั้งที่ร่างกายไม่พร้อม จะทำให้ผู้ป่วยไม่สบายตัว และเกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องอืด สำลัก อาหารบูดเน่าในกระเพาะ เป็นต้น