Knowledge cover image
7 กุมภาพันธ์ 2566
  1. คลังความรู้
  2. คนนอก คนใน

คนนอก คนใน

จากบันทึกชีวิตและประสบการณ์ของหมอ Palliative care ตอนที่ 4


เรื่องโดย นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย

หลังการมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นได้ 3 เดือน ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าเพราะเหตุใดดินแดนที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น รวมถึงวิทยาศาสตร์การแพทย์อันทันสมัยแห่งนี้ จึงมีแพทย์ไทยมาเรียนต่อเฉพาะทางเป็นจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกา สาเหตุหลัก ๆ น่าจะเป็นเรื่องของกำแพงทางด้านวัฒนธรรมและภาษานั่นเอง


ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมอันโดดเด่นเป็นของตนเองและได้สร้างความประทับใจให้กับคนทั่วทั้งโลกมาแล้วจนเป็นที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริการ ความสะอาด หรือความซื่อสัตย์ ทราบมั้ยครับว่าถ้าแค่มาเที่ยวประเดี๋ยวประด๋าว เราจะรู้สึกดีและมีความสุข แต่ถ้าต้องมาอยู่หรือทำงานแบบจริงจังแล้ว จะทั้งเหนื่อยและเครียดจนยิ้มไม่ออกเลย ความกดดันดังกล่าวจะมีต่อไปเรื่อย ๆ จวบจนเมื่อเราค้นพบแนวคิดในวิถีชีวิตของพวกเขาได้เมื่อไร เมื่อนั้นความเข้าใจจะทำให้กลับมามีชีวิตที่เปี่ยมสุขได้อีกครั้ง  


การได้รับบริการต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวจนเป็นที่ถูกอกถูกใจนั้น เพราะคนญี่ปุ่นมองว่าผู้มาเยือนทั้งหลายเป็น “คนนอก” ครับ ซึ่งหมายถึงคนที่พบเจอแล้วจากกันไป ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งต่อกัน ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงดูแล “คนนอก” เช่นเดียวกับ “แขก” ให้การต้อนรับด้วยกิริยามารยาทที่สมบูรณ์ แต่ไม่เปิดใจให้ จึงเป็นเรื่องยากที่ “คนนอก” จะสามารถสัมผัสถึงเนื้อในจริง ๆ ของความเป็นญี่ปุ่นได้ เนื้อในที่ผมได้มีโอกาสรับรู้และสิ่งนี้คือแก่นหัวใจของผู้คนที่นี่อย่างแท้จริง


ผมขอยกตัวอย่างปรัชญาในการใช้ชีวิตเรื่องหนึ่งของคนญี่ปุ่นที่โดยส่วนตัวแล้วประทับใจมาก ๆ อย่างที่ทราบกันว่าพฤติกรรมอันเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตของผู้ให้บริการตั้งแต่ร้านอาหารเล็ก ๆ สถานที่ท่องเที่ยว โรงพยาบาล ภัตตาคาร ไปจนถึงโรงแรมขนาดใหญ่ ล้วนแล้วแต่สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่มีวันลืมให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น ถ้ายังเป็น “คนนอก” เราจะได้รับรอยยิ้มจากพวกเขาอยู่เสมอ แต่เมื่อเป็น “คนใน” บางครั้งเราอาจจะได้รับบางอย่างที่แตกต่างออกไปครับ


มีร้านราเม็งเล็ก ๆ ใกล้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งผมไปกินเป็นประจำ นอกจากอาหารที่เอร็ดอร่อยและราคาไม่แพงแล้ว ผมยังชอบอัธยาศัยของเจ้าของร้านผู้ทักทายทุกคนด้วยความเป็นกันเอง เขาเป็นชายร่างท้วมที่น่าจะมีอายุมากกว่าผมเล็กน้อย และเนื่องจากเขามีความสนใจในประเทศไทยอย่างแรงกล้า เมื่อมีเวลา พวกเราจึงมักแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ กันโดยสม่ำเสมอ


ครั้งหนึ่ง ผมนั่งทอดเวลาอยู่ในร้านของเขา สถานการณ์ยามเที่ยงดูวุ่นวายเพราะมีลูกค้าทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผมจะช่วย เขาก็ไม่ให้ช่วย ผมจะกลับ เขาก็ไม่ให้กลับ บอกแต่เพียงว่าให้รออยู่ก่อน เมื่อลูกค้าเริ่มซา เขาก็มานั่งลงที่เก้าอี้ฝั่งตรงข้ามพร้อมใบหน้าอันมู่ทู่ และเริ่มสาธยายถึงความเหน็ดเหนื่อยให้ฟัง จนเมื่อมีลูกค้ารายใหม่เปิดประตู ภาพทุกอย่างตรงหน้าก็อันตรธานหายไป เขากลายเป็นเจ้าของร้านผู้มีใบหน้าเปื้อนยิ้มคนเดิมโดยที่ไม่ได้เสแสร้ง ผมสังเกตพฤติกรรมที่น่าสนใจนี้ไปจนถึงหลังบ่าย 2 โมง เหตุการณ์ต่าง ๆ ในร้านจึงเริ่มสงบ และเขาก็กลับมานั่งที่เดิม ถอนหายใจ พร้อมกับคร่ำครวญเรื่องต่าง ๆ ในร้านต่อจนผมแทบจะฟังไม่ทัน


เมื่อมีโอกาส ผมจึงถามกลับไปว่าเพราะอะไรที่ทำให้เขายังมีพลังมากพอในการส่งยิ้มให้กับลูกค้าอยู่เสมอ เขาหยิบกระดาษขึ้นมาแผ่นหนึ่ง จากนั้นจึงเขียนวลีสั้น ๆ ว่า ‘一期一会’ ผมเคยอ่านผ่านตาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาบ้าง แต่ก็ขอให้เขาช่วยอธิบายเพิ่มเติมโดยนิยามของตัวเอง


‘一期一会’ อ่านว่า ‘ichi go ichi e’ หมายถึงการพบเจอกันในครั้งหนึ่ง อาจเป็นเพียงครั้งเดียว เขายึดหลักในเรื่องนี้จนเป็นชีวิตจิตใจ ดังนั้นทุกครั้งที่มีลูกค้าเข้ามา จึงระลึกอยู่เสมอว่าครั้งหนึ่งนี้อาจจะเป็นแค่ครั้งเดียวที่ได้พบกันกับคน ๆ นี้ เขาจึงตั้งใจทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แม้ว่าจะอ่อนล้าแค่ไหนก็ตาม


อย่างที่บอกครับว่าผมชื่นชอบในปรัชญาเรื่องนี้มาก จึงได้นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย เพราะแค่ความรู้สึกที่ว่าเหตุการณ์ตรงหน้า คนตรงหน้า หรือไม่ว่าเรื่องใด ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น อาจเป็นเพียงครั้งเดียวที่ได้มีโอกาสสัมผัสในสิ่งเหล่านั้น เพียงแค่นี้จิตวิญญาณภายในก็เหมือนถูกปลุกให้ตื่นตัว มุมมองต่อสิ่งตรงหน้าและการแสดงออกก็เปลี่ยนไป ผมตระหนักได้ทันทีว่าควรจะทำอย่างไรเมื่อทุกโอกาสและประสบการณ์ต่างมีคุณค่ามากมายถึงขนาดนี้ หลังจากที่ได้คุยกับเขาในวันนั้น ความสุขในการใช้ชีวิตของผมก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเลยครับ

ในโรงพยาบาล ผมไม่ได้พยายามทำหรือพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้เป็น “คนใน” แต่คงโชคดีมากกว่าที่การกระทำของผม ไม่ว่าจะเป็นการรอเพื่อนกลับบ้าน การเก็บจานของเซนเซไปล้าง หรือการช่วยงานภาควิชาโดยที่ไม่มีปากเสียง พอที่จะซื้อใจทุกคนและตรงกับวัฒนธรรมของความเป็นญี่ปุ่นอยู่บ้าง 


พอได้เป็น “คนใน” แล้ว ผมก็ไม่ใช่ “แขก” อีกต่อไป ผมได้รับการมอบหมายให้ทำเรื่องของส่วนรวมมากขึ้น ถูกตำหนิเมื่อทำผิดอย่างตรงไปตรงมา และก็มีโอกาสอีกหลายอย่างที่มีเฉพาะ “คนใน” เท่านั้นที่จะได้ทำ


ในงานเลี้ยงรับบุคลากรใหม่เมื่อมากันครบทีม ทางภาควิชาจัดเลี้ยงที่โรงแรมแบบพื้นบ้านหรือที่เรียกว่าเรียวกัง ทุกคนกินอาหารและคุยเรื่องราวทั่วไปกันอย่างสนุกสนาน จนถึงประมาณ 5 ทุ่ม งานเลี้ยงจึงเลิกรา เจ้าหน้าที่เริ่มส่งบรรดาบุคลากรใหม่กลับบ้าน ผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้นและเตรียมตัวที่จะขึ้นรถ แต่เซนเซได้มาดึงตัวเอาไว้และเอ่ยเพียงสั้น ๆ ว่า “ถึงเวลาแล้ว พวกเราไปกันเถอะ” 


ผมแตกแถวออกมาแล้วเดินตามเซนเซและเพื่อนผู้ชายอีกหลายคนไปอย่างเงียบ ๆ ขึ้นบันไดไปที่ชั้นบนสุดของอาคาร เข้าไปในห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว จากนั้นพวกเขาก็ถอดเสื้อผ้าออกจนหมด ผมหันรีหันขวางไปรอบ ๆ ด้วยความตกใจ จนรับรู้ได้ว่าที่นี่คือออนเซ็น จึงต้องรีบแก้ผ้าออกด้วยเพื่อให้เนียนไปกับทุกคน


ทั้งเซนเซและเพื่อน ๆ ผลัดกันมาสอนผมตั้งแต่การอาบน้ำ ถูตัว ไปจนถึงลงอ่างน้ำร้อน ความเย็นของอากาศ เมื่อได้แช่ตัวลงในน้ำอุ่น ๆ ช่างมีความสุขสุดยอด ระหว่างที่ผมกำลังเคลิบเคลิ้มอยู่ เพื่อนจึงมาชวนให้ออกไปที่โซนนอกอาคารซึ่งทุกคนต่างรออยู่ที่นั่นกันหมดแล้ว ผมถูกจู่โจมด้วยคำถามต่าง ๆ นานา และสะดุดเข้ากับความสงสัยหนึ่งของเพื่อนที่ว่า “ถามจริง ๆ เลยนะ คุณมาเรียนที่ญี่ปุ่นทำไม เพราะถ้าไปเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก คุณก็ไม่น่าวุ่นวายและลำบากอย่างที่เป็นอยู่นี้”


ผมงงนิดหน่อยเมื่อเพื่อนพยายามเน้น “ครั้งนี้คือขอถามจริง ๆ” ซึ่งได้มาเข้าใจในภายหลังว่าในบ่อออนเซ็นที่ทุกคนต่างไม่มีเครื่องกำบังกายต่อกันแล้ว ยังเป็นสถานที่พูดคุยกันอย่างไม่ต้องกำบังใจด้วย เราสามารถเปิดเผยความรู้สึกที่เลือกจะไม่พูดเมื่ออยู่ในสังคมภายนอกได้อย่างไม่ต้องมีความลับต่อกัน


ผมจึงตอบความจริงไปตามตรงว่าเพราะผมชอบความเป็นญี่ปุ่น แค่นี้แหละคือเหตุผลทั้งหมดที่เลือกมาเรียนที่นี่ เซนเซจึงได้แลกเปลี่ยนว่าตอนแรกตัวของเขาเองก็สงสัยในประเด็นนี้เช่นกัน แต่ตอนนี้ไม่ลังเลแล้ว และเมื่อได้รู้คำตอบของผมก็ยิ่งตอกย้ำว่าความเข้าใจนั้นถูกต้อง ผมคะยั้นคะยอจนเซนเซยอมบอกในสิ่งที่คิดว่า “คุณไม่มีทางที่จะเลือกไปเรียนที่อื่นได้หรอก นอกจากที่นี่ เพราะไม่มีที่ใดในโลกจะเหมาะกับคุณมากไปกว่าญี่ปุ่นอีกแล้ว คุณรู้ตัวมั้ยว่าตัวของคุณเองเหมือนคนญี่ปุ่นมากกว่าคนญี่ปุ่นเองซะอีก” ทุกคนต่างพากันหัวเราะและพยักหน้าด้วยความเห็นพ้องทั้งสิ้น 


จากนั้นก็มีหัวข้อต่าง ๆ ที่ผลัดกันยกขึ้นมาสนทนาอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัว ความรัก หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ยิ่งใหญ่อย่างความหมายในชีวิต ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จึงทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมกลุ่มเพื่อนสนิทที่เคยอ่านเจอในการ์ตูนถึงชอบชักชวนกันไปออนเซ็น และถ้ามีเพื่อนมาชวน ผมก็ไม่เคยเลยที่จะปฏิเสธโอกาสที่จะทำให้ได้รู้จักกับเขามากขึ้น



สำหรับผมแล้ว ทั้ง “คนนอก” หรือ “คนใน” ต่างก็มีข้อดีของสถานะนั้นด้วยกันทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าประสบการณ์ใดจะเกิดขึ้น แค่ได้ระลึกว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เพียงแค่นั้น ทุกเรื่องราวต่างก็งดงามและเปี่ยมด้วยคุณค่าเสมอ ดังนั้น สิ่งที่ผมตั้งใจทำในทุกครั้งคือการอยู่กับทุกเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเมื่อวันเวลาผ่านไป เมื่อปัจจุบันได้กลายไปเป็นความทรงจำ ผมเชื่อจากใจเลยครับว่าความเสียดายจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน


นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย avatar image
เรื่องโดยนพ.ภิญโญ ศรีวีระชัยนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งนอกจากจะเป็นแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคองแล้ว ยังเป็นคุณหมอนักเขียนผู้ผลิตผลงานออกมาสม่ำเสมอ อย่างนวนิยายที่กลั่นกรองประสบการณ์ตรงจากการทำงานด้านการดูแลแบบประคับประคอง คือ มรณเวชกรรม และการุณยฆาต ที่ได้รางวัลการันตีมาแล้วทั้งสองเล่ม

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads