Knowledge cover image
16 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. ยินดีต้อนรับ

ยินดีต้อนรับ

จากบันทึกชีวิตและประสบการณ์ของหมอ Palliative care ตอนที่ 2


เรื่องโดย นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย

หลังการใช้ชีวิตอยู่ในแผ่นดินญี่ปุ่นได้ไม่ถึงสัปดาห์ ผมพอจะเข้าใจแล้วครับว่าผู้ที่พิการนั้นรู้สึกอย่างไร


เพราะตัวผมเองก็คงไม่ได้แตกต่างกัน ทั้งตาบอด (อ่านอักษรคันจิที่ซับซ้อนไม่ได้) หูหนวก (ฟังใครก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เขาพูดกันเร็วจี๋และใช้แต่ภาษาถิ่นของภูมิภาคคันไซ) แถมยังเป็นใบ้อีกต่างหาก (คนที่นี่ฟังสำเนียงแปล่ง ๆ ของผมไม่ออก) อึดอัดมาก ๆ เลยครับ


ถือเป็นโชคดีของผมอยู่อย่างหนึ่ง คือการได้มาถึงในช่วงงานประจำปีของเมืองโกเบ จึงมีเทศกาลอันครึกครื้นให้พอผ่อนคลายได้บ้าง งานนี้ยิ่งใหญ่ขนาดไหน สามารถดูได้จากขบวนพาเหรดซึ่งใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของเมืองมานำเสนอได้อย่างตระการตา รวมระยะเวลาในการแสดงทั้งหมดยาวนานถึง 8 ชั่วโมง อลังการมากเลยใช่มั้ยล่ะครับ



ในวันก่อนเปิดเรียน ผมตัดสินใจลองซักซ้อมการเดินทางไปที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยโกเบ ซึ่งจะเป็นโรงเรียนแพทย์หลักในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ของผม เนื่องจากเป็นวันหยุดในช่วงโกลเดนวีค ผู้คนจึงบางตาและภาควิชาต่าง ๆ ก็ไม่ได้เปิดทำการ ผมจึงได้แต่เดินเล่นไปมาอยู่รอบ ๆ อย่างตื่นเต้น พรุ่งนี้แล้วสินะ ที่จะได้เป็นนักเรียนใหม่ของที่นี่อย่างเต็มตัว 


เช้าวันรุ่งขึ้น ฝนตกลงมาอย่างหนัก แม้ว่ารถไฟจะออกตรงตามเวลา แต่ก็ยังมีระยะทางที่ผมจะต้องเดินเท้าจากสถานีไปถึงโรงพยาบาลอีกไกลพอสมควร ผมเหลือบดูนาฬิกา เหลืออีกตั้ง 1 ชั่วโมง ไม่น่าจะมีปัญหา วันแรกแบบนี้ ผมไม่อยากไปสาย เพราะได้ศึกษามาอย่างดีแล้วว่าคนญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดในเรื่องของเวลากันมาก ๆ 


เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ผมตั้งใจจะรีบมุ่งหน้าไปสู่สำนักงานของภาควิชาพาลิเอทีฟเมดิซิน (palliative medicine) ซึ่งจากข้อมูลที่ได้ค้นหามา ผมรู้แต่เพียงอยู่ที่ชั้น 3 ของตึกอะไรสักอย่าง และคิดเอาเองว่าน่าจะพอถามจากบุคลากรแถวนี้ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้คนต่างทำหน้างงและชี้ไปคนละทิศละทาง ผมเดินตามไปในทุกแห่งที่ได้รับการบอก แต่ก็ยังไม่ใช่ ฝนตกกระหน่ำมากยิ่งขึ้น เวลาก็กระชั้นเข้ามาเรื่อย ๆ เหลืออีกแค่ 5 นาทีแล้ว ผมยังหาสำนักงานไม่พบเลย 


ระหว่างที่หันรีหันขวางอย่างร้อนรน สายตาไปกระทบเข้ากับนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งที่ท่าทางใจดี ผมขอเดิมพันครั้งสุดท้ายว่าจะทันหรือไม่ไว้กับน้องคนนี้แล้ว ดังนั้น ผมจึงเดินดุ่ม ๆ เข้าไปหาพร้อมกับสอบถามเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้ขอร้องว่าอย่าชี้ ช่วยนำทางผมไปด้วยเถิด เขาตอบด้วยภาษาอังกฤษสั้น ๆ แสดงการรับรู้พร้อมกับหัวเราะอย่างขบขัน แล้วจึงพาผมไปส่งที่หน้าประตูของสำนักงาน


และนี่เป็นการเรียนรู้เรื่องแรก ๆ ที่สำคัญก็ว่าได้ ผมควรเลือกใช้ภาษาให้ตรงกับความเข้าใจของผู้ฟังในการสื่อสาร ผมเฝ้าตามหาแต่ภาควิชาพาลิเอทีฟเมดิซิน ซึ่งคนญี่ปุ่นไม่ได้เรียกด้วยชื่อนี้ เขาใช้คำว่า คังวะแคร์ (kanwa care ตามรากศัพท์หมายถึงการดูแลเพื่อให้เกิดความสุขสบาย) มิน่าล่ะ คนที่ผมไปสอบถามจึงสับสนงงงวยกันไปหมด


หลังจากที่ได้กล่าวขอบคุณน้องนักศึกษาแพทย์ที่ช่วยผมเอาไว้ได้ทันเวลา ผมจึงเปิดประตูสำนักงานเข้าไปอย่างรีบร้อน แล้วโค้งให้ทุกคนตั้งแต่อาจารย์จนถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ทั้งหมด และทันทีที่กล่าวคำทักทายด้วยภาษาญี่ปุ่นแบบงู ๆ ปลา ๆ เสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่ที่แสดงถึงความโล่งอกก็ดังออกมาให้พอได้ยิน 


ผมเริ่มแนะนำตัวว่าเป็นคนไทย ทุกคนต่างให้ความสนใจในประเทศของเราเป็นอย่างมาก คำถามมากมายพุ่งตรงมาในทันที ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความเป็นไทยในสายตาของชาวโลก หรืออย่างน้อยก็ในคนญี่ปุ่น ว่าพวกเราเป็นเพียงประชากรกลุ่มเล็ก ๆ ของโลกใบใหญ่ ซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเพียงไม่นาน คำถามที่สะเทือนใจก็ถูกถามขึ้น นั่นคือ พวกคุณยังขี่ช้างไปโรงเรียนอยู่จริงมั้ย


เซนเซ (ใช้เรียกเพื่อแสดงความเคารพแก่ผู้ที่มีคุณวุฒิสูงกว่า เช่น ครูหรือแพทย์) ทุกท่านต่างเฝ้ารอการมาของผมอย่างใจจดใจจ่อ เพราะผมเป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกของประเทศญี่ปุ่นที่ได้เข้าศึกษาหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางต่อยอดในสาขานี้อย่างเต็มตัว


เซนเซพี่เลี้ยงซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้อธิบายในเรื่องระบบต่าง ๆ ของที่นี่ให้ฟังอย่างละเอียดด้วยภาษาอังกฤษ ว่าการเรียนรู้จะผ่านการดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่มีการมานั่งสอนหรือป้อนให้ ความรู้ต้องได้จากการไปศึกษามาเองก่อน แล้วถ้าไม่เข้าใจจึงค่อยมาคุยกัน หรือเกิดวันไหนถ้าถูกถามแล้วตอบไม่ได้ แปลว่าอีกวันหนึ่งต้องมารายงานทันทีว่าหลังจากที่ไปอ่านมา คำตอบควรจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ทำตามนี้จะถือเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบอย่างรุนแรง 


ผมได้รับมอบหมายงานนำเสนอเป็นครั้งแรกในอีก 2 สัปดาห์ โดยเริ่มจากเรื่องที่ไม่ได้เป็นวิชาการมากนัก ซึ่งก็คือการเล่าเกี่ยวกับประเทศไทยให้เพื่อนแพทย์และพยาบาลที่ทำงานร่วมกันได้รู้จักมากขึ้น ผมพยายามคัดสรรหัวข้อที่คิดว่าน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว แต่ประเด็นที่ถูกเรียกร้องเป็นอย่างมากว่าอยากจะฟังด้วย คือหัวข้อเรื่องของสาวประเภท 2 หรือที่ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่านิวฮาลฟ์ (new half) เพราะเขาเหล่านั้นสวยมาก ๆ ในสายตาของทุกคน


ไม่แน่ใจว่าเป็นเคราะห์ดีหรือร้าย ที่เซนเซได้ถามความพร้อมก่อนที่จะถึงวันนำเสนอจริง ซึ่งผมได้เตรียมตัวและซักซ้อมมาแล้วเป็นอย่างดี แต่จู่ ๆ ก็เอะใจบางอย่างขึ้นมา จึงถามเซนเซกลับไปอย่างซื่อ ๆ ว่าผมสามารถพูดด้วยภาษาอังกฤษใช่หรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าผมจะพอพูดภาษาญี่ปุ่นได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่เป็นทางการซึ่งมีการใช้คำและรูปประโยคที่ซับซ้อน เซนเซหันมากะพริบตาปริบ ๆ แล้วกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบเป็นธรรมดา “..คุณจะยอมลำบากคนเดียวโดยการพูดเป็นภาษาญี่ปุ่น หรือจะให้ทุกคนต้องอึดอัดด้วยภาษาอังกฤษก็ได้ เลือกเอาเองตามใจ..”


ผมถามตัวเองว่ามันคือทางเลือกอย่างนั้นเหรอ ทั้งที่รู้ว่าไม่น่าจะใช่เลย เย็นวันนั้น ผมรีบกลับหอทันที และพยายามแปลงสิ่งที่จะพูดทั้งหมดให้เป็นภาษาญี่ปุ่น ผ่านไปค่อนคืน การแปลก็ยังไม่ไปถึงไหน ผมคงต้องยอมรับแล้วว่ามันไม่ใช่ทุกความพยายามที่จะประสบความสำเร็จได้จริง 


เช้าวันรุ่งขึ้น ในห้องประชุมที่อัดแน่นไปด้วยบุคลากร ผมตัดสินใจบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นในแบบของตัวเอง ซึ่งคงผิดไปจากไวยากรณ์ที่ควรจะเป็นอย่างสิ้นเชิง ทุกคนต่างเงียบกริบจนผมได้ยินเสียงหัวใจที่เต้นไม่เป็นส่ำอยู่ในทรวงอกด้านซ้าย 


หลังจบการนำเสนอ เสียงปรบมืออย่างกึกก้องพร้อมกับรอยยิ้มค่อย ๆ ผลิบานขึ้นบนใบหน้าของผู้ฟัง และรวมทั้งผมด้วย ทราบมั้ยครับว่าในวันนั้น ไม่มีใครเลยที่ชื่นชมว่าผมพูดได้ดี แต่ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าความพยายามในครั้งนี้มันสุดยอดมากจริง ๆ 


เซนเซยืนขึ้นและปรบมือ พร้อมกับกล่าวในคำพูดที่ผมคงไม่มีวันลืม “..คุณทำให้พวกเราได้เห็นถึงคุณสมบัติของคนไทยที่ยอดเยี่ยม โดยผ่านทางการกระทำของคุณ ผมสัมผัสถึงสิ่งนี้ได้มากกว่าเรื่องราวที่คุณนำเสนอทั้งหมดเสียอีก และผมไม่เสียใจเลยที่เสี่ยงรับคุณเข้ามาเรียน ขอต้อนรับอย่างเป็นทางการอีกครั้งสู่ภาควิชาของเรา..” 


คงไม่ต้องบอกว่าปลาบปลื้มมากแค่ไหน ผมรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจเช่นกันที่ได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อในสถาบันแห่งนี้


ผมมั่นใจแล้วว่า 2 ปีนี้จะต้องเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามากมายในชีวิตอย่างแน่นอน

นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย avatar image
เรื่องโดยนพ.ภิญโญ ศรีวีระชัยนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งนอกจากจะเป็นแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคองแล้ว ยังเป็นคุณหมอนักเขียนผู้ผลิตผลงานออกมาสม่ำเสมอ อย่างนวนิยายที่กลั่นกรองประสบการณ์ตรงจากการทำงานด้านการดูแลแบบประคับประคอง คือ มรณเวชกรรม และการุณยฆาต ที่ได้รางวัลการันตีมาแล้วทั้งสองเล่ม

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads