Knowledge cover image
30 มกราคม 2566
  1. คลังความรู้
  2. เพื่อนในต่างแดน

เพื่อนในต่างแดน

จากบันทึกชีวิตและประสบการณ์ของหมอ Palliative care ตอนที่ 3


เรื่องโดย นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย

การใช้ชีวิตตามลำพังอยู่ในถิ่นฐานที่ไม่คุ้นเคย ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะครับ มีปัญหาเกิดขึ้นอยู่เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ขึ้นรถไฟผิดชานชาลา หรือสั่งอาหารแล้วไม่ได้ดั่งใจ ไปจนถึงเรื่องราวใหญ่โตทางสุขภาพและการเงิน ซึ่งถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่เป็น ‘เพื่อน’ ชีวิตของผมคงลำบากกว่านี้อีกเยอะครับ


ในภาควิชาการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง มีหมอชาวญี่ปุ่นที่เรียนด้วยกันอีก 3 คน และคงเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนไม่ได้ชื่นชอบในตัวผม มีแพทย์หญิงท่านหนึ่งที่ไม่อยากคุยกับผมครับ ทุกครั้งที่ถูกจับให้อยู่กลุ่มเดียวกับเธอ หรือต้องไปดูแลผู้ป่วยด้วยกัน เธอจะขอแลกกับผู้อื่นเสมอ ซึ่งทำให้ผมจิตตกอยู่ไม่น้อย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นะครับ นอกจากต้องยอมรับ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผมก็ยังโชคดีที่มีเพื่อนเฟลโลว์ (fellow) อีกตั้ง 2 คน รวมถึงเซนเซ และพี่ ๆ พยาบาลอีกมากมายที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา


การเรียนที่นี่หนักหน่วงเอาการอยู่ แพทย์ประจำบ้านทุกคนต้องมาถึงโรงพยาบาลกันตั้งแต่เช้า เพื่อไปประเมินผู้ป่วยที่คิดว่าอาการยังไม่คงที่ จากนั้นในเวลา 9 โมงตรง ย้ำอีกครั้งครับว่า 9 โมงตรง เพราะถ้ามาสาย..ถ้ามาสาย..คือที่จริงแล้ว ผมก็ไม่ทราบหรอกครับว่าถ้ามาสายจะเกิดอะไรขึ้น เพราะการทำงานตลอดระยะเวลา 2 ปี ผมไม่เคยเห็นใครมาสายเลยสักครั้ง และก็คิดว่าไม่ควรนำตัวเองไปเสี่ยงกับแค่ความอยากรู้ในบทลงโทษนี้ด้วย 


กลับเข้าเรื่องอีกครั้งครับ ในเวลา 9 โมงตรง ทุกคนในภาควิชาก็จะมาพร้อมกันที่ห้องประชุม แล้วเริ่มรายงาน รวมถึงตรวจเยี่ยมอาการของผู้ป่วยกันอีกครั้งร่วมกับเซนเซ ซึ่งกว่าจะเดินครบทุกตึกทุกหอก็ปาไปเกือบ ๆ 3 ชั่วโมง พอใกล้เที่ยง ต่างคนต่างรีบแยกย้ายกันไปกินข้าว แล้วกลับมาศึกษาประวัติความเจ็บป่วยของผู้ที่ต้องรับผิดชอบให้เสร็จก่อนการออกตรวจที่คลินิกผู้ป่วยนอก ซึ่งเริ่มต้นในเวลาบ่ายโมง ส่วนเวลาเลิกนั้นไม่ระบุ แปลว่าต้องตรวจและให้การรักษาผู้ป่วยทั้งหมดจนกว่าจะเสร็จสิ้นถึงจะเลิกได้ แต่เลิกในที่นี้ก็ยังไม่ได้หมายถึงเลิกงานครับ แค่เลิกตรวจผู้ป่วย ยังเหลือการพิมพ์รายงานอีกกองมหึมา และถ้าไม่มีการถูกเรียกตัวอย่างเร่งด่วนแล้ว เวลาที่ยุติการทำงานจริง ๆ ของแต่ละวัน จะประมาณ 1 - 2 ทุ่ม ไม่ขาดไม่เกิน 


ยอมรับครับว่าในช่วงแรก งานของผมมีน้อยกว่าหมอคนอื่น เพราะเซนเซไม่ได้ให้ผมต้องรับผิดชอบการดูแลทุกอย่างเหมือนกับที่แพทย์ชาวญี่ปุ่นเองต้องทำ ผมจึงมักเสร็จภารกิจก่อนและนั่งรอเพื่อน ๆ ก็เราขึ้นเรือลำเดียวกันแล้วนี่ครับ มาถึงโรงพยาบาลแทบจะเป็นเวลาเดียวกันในทุกเช้า การกลับบ้านก็ควรพร้อมเพรียงกันด้วยเพื่อความสามัคคี และหากวันใดเกิดภาวะยุ่งเหยิงที่มีงานเข้าจนผิดปกติ ผมก็จะรับอาสาไปซื้อข้าว น้ำ หรือขนมมาให้ เพราะคงเป็นสิ่งเดียวที่พอจะช่วยเพื่อนได้บ้างในตอนนั้น


การทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้พวกเราสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว และพยายามช่วยกันประคองการเรียนให้เป็นไปอย่างสันติ เนื่องจากถ้ามีใครเผลอไผลทำให้เซนเซอารมณ์เสียขึ้นมา ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม คนที่เหลือก็จะพลอยได้รับหางเลขไปด้วย เพื่อน ๆ รู้ดีว่าจุดบอดของผมอยู่ที่การซักประวัติผู้ป่วย เพราะไม่สามารถจับใจความได้ทั้งหมดในสิ่งที่ได้ยิน พวกเขาจึงมักช่วยไปถามไถ่มาก่อนเพื่อให้ง่ายต่อผมมากขึ้น เพียงแค่นี้ก็ทำให้ทั้งผมและทีมมีแนวโน้มที่จะปลอดภัย


นอกจากเรื่องการศึกษาแล้ว เพื่อน ๆ ยังช่วยผมในเรื่องส่วนตัวอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเช่าอินเทอร์เน็ตรายปี การไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร หรือการทำบัตรห้องสมุดประชาชน สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะง่ายนะครับ แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว มันแสนสับสนอลหม่านเป็นยิ่งนัก ผมยังจำได้ว่าต้องไปธนาคารถึง 5 ครั้ง จึงจะได้รับบัตรเอทีเอ็มมาใช้


เทศกาลระดับประเทศงานแรกหลังจากที่ผมได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว คือ ทานาบาตะ (Tanabata) หรือที่รู้จักกันในนามของเทศกาลแห่งดวงดาว ซึ่งถูกจัดขึ้นในวันที่ 7 เดือน 7 ตามตำนานเล่าว่าเป็นเพียงวันเดียวในรอบปีที่หญิงทอผ้าจะสามารถพบกับชายเลี้ยงวัวบนฟากฟ้าได้ ทั้งเมืองโกเบถูกประดับประดาไปด้วยต้นไผ่ และมีบัตรเพื่อใช้เขียนคำอธิษฐานวางไว้ให้พร้อม หน้าต่างทุกบานของรถไฟใต้ดิน มีคำขอพรของเด็ก ๆ แขวนไว้ให้อ่านได้ไม่เบื่อ ช่างเป็นสีสันที่น่าหลงใหลจริง ๆ ครับ 


ในคืนวันนั้น ผมได้แต่เฝ้าดูท้องฟ้าจากชั้นบนสุดของหอพัก ว่าเมื่อไรนะจะปรากฏทางช้างเผือก พร้อมกับดวงดาวของทั้งคู่ที่โคจรมาพบกัน ถ่างตาอยู่จนค่อนคืนก็ยังไม่เห็นแม้เงาจึงขอยอมแพ้


วันรุ่งขึ้น ผมรีบนำเรื่องนี้มาถามเพื่อนด้วยความสงสัย ทุกคนต่างพากันหัวเราะแต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกมา และในช่วงเย็น ผมก็สงสัยว่าทำไมเพื่อน ๆ ไม่ยอมกลับบ้านกันสักที ทั้งที่งานก็ไม่ได้มีอะไรเหลือแล้ว ในเมื่อเพื่อนยังไม่กลับ ผมก็ไม่กลับโดยที่ไม่ได้ล่วงรู้เหตุผล เมื่อใกล้ 3 ทุ่ม เพื่อนคนหนึ่งมาสะกิดว่าถึงเวลาแล้ว เราไปกันเถอะ ตอนนั้นผมก็ยังไม่ทราบเลยครับว่าเพื่อนจะไปไหน แต่ก็ขึ้นรถของเขาไปอย่างว่าง่ายโดยที่ไม่ได้ถามอะไรซอกแซก 


พวกเราออกมานอกเมือง แล้วตรงไปยังสถานที่ค่อนข้างรกร้าง ขึ้นเขาลูกแล้วลูกเล่าอยู่เกือบชั่วโมง จนสุดท้ายก็ไปหยุดที่ลานกว้างบนยอด ภาพที่ปรากฏทำให้ผมถึงกับตกตะลึงไปชั่วขณะ ดวงดาวนับร้อย..ไม่สิ..นับพัน..อาจจะนับหมื่น..หรือนับแสนเลยก็ว่าได้ พร่างพราวสว่างไสวอยู่ที่เบื้องหน้า สายธารแห่งดาราระยิบระยับทอดยาวจากฟากฝั่งหนึ่งไปสู่ทิศตรงข้ามอย่างน่าตระการ พร้อมกันนั้น แสงดาวทั้งน้อยใหญ่ยังกะพริบให้เป็นจังหวะราวกับทักทายผมซึ่งเป็นผู้มาเยือน ฝนดาวตกร่วงหล่นเป็นระยะ ๆ ความสุกสกาวที่ได้เห็นบนผืนฟ้านี้ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้เลยว่า นี่สินะ เทศกาลแห่งดวงดาวที่แท้จริง


คืนนั้น พวกเรานอนลงบนเสื่อท่ามกลางธรรมชาติ และจ้องมองความสวยงามของท้องนภาตลอดราตรี ช่วยกันนับดาวตกที่มีปริมาณไม่หวาดไม่ไหว แสงสว่างของดวงดาวในวันนั้น ยังคงเปล่งประกายอยู่ในความทรงจำของผมมาจนถึงทุกวันนี้

    

ทุกเย็นวันศุกร์ ผมกับเพื่อนอีก 2 คน มักไปกินอาหารค่ำและดื่มเบียร์ด้วยกันอยู่เสมอ ทั้งที่ไม่ได้ชอบแอลกอฮอล์ แต่ผมกลับชอบบรรยากาศของการร่วมวงสนทนา เราพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกเรื่อง ตั้งแต่ 2 ทุ่ม จนร้านปิดเป็นประจำ 


ครั้งหนึ่ง ผมขอบคุณทั้งคู่จากใจ เพราะถ้าไม่มีพวกเขา ชีวิตของผมคงวุ่นวายกว่านี้เป็นแน่ เพื่อนผู้หญิงที่กำลังกรึ่ม ๆ หันขวับมาทันทีและถามขึ้นเสียงดัง “..นายเขียนคำว่า ‘คน’ ด้วยคันจิได้มั้ย..”


ผมจึงขอกระดาษจากบริกรแล้วบรรจงลากปากกาจนได้ตัวอักษร ‘ฮิโตะ’ ซึ่งหมายถึง ‘คน’ เธอหยิบไปดูพร้อมกับหัวเราะชอบใจ “..ดีมาก..นายเห็นมั้ยว่า ‘คน’ มันเกิดมาจาก 2 เส้นที่พิงกันอยู่..ถ้าขาดเส้นใดเส้นหนึ่งไป อีกเส้นก็จะล้ม แล้ว ‘คน’ ก็จะไม่เป็น ‘คน’ ได้อีก..ชีวิตของ ‘คน’ มันก็อย่างนี้แหละ..เราอยู่ด้วยกันก็ต้องช่วยเหลือกัน ไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ‘คน’ แล้ว..”


“เพราะฉะนั้น คุณไม่ต้องคิดมาก” เพื่อนผู้ชายเสริมขึ้น “รู้มั้ยว่าการที่มีคุณอยู่ ทำให้ผมต้องพยายามมากขึ้นกว่าเดิม ผมคงเล่าอะไรให้คุณฟังไม่ได้ ถ้าไม่สามารถเข้าใจผู้ป่วยอย่างแท้จริง และเพราะสิ่งนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างเลย”


จู่ ๆ แขนของเธอที่วางนิ่งอยู่บนโต๊ะก็ฟาดลงมาที่บ่าของผม “..นายก็ตอบแทนพวกฉันแล้วนี่ ที่วิ่งหาของอร่อยมาให้อยู่เสมอ..นายคงไม่รู้หรอกว่าฉันนะ หิวจนไส้จะขาด..” เธอชักมือกลับไปกุมที่ท้องของตนเอง จากนั้นจึงบิดไปมาจนดูน่าขบขัน  


“และผมก็อยากขอบคุณเช่นกัน ที่รอพวกเราอยู่เสมอ มันทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นมาก ขอบคุณมากนะ” เขาโค้งตัวให้อย่างสุภาพ


การพบกับใครสักคนจนได้มีโอกาสกลายเป็น ‘เพื่อน’ กัน ผมไม่ทราบหรอกครับว่าเกิดจากความบังเอิญหรือเป็นลิขิตของสวรรค์กันแน่ แต่สิ่งที่มั่นใจคือการสานต่อจากจุดเริ่มต้นนั้น ล้วนแล้วมาจากทุกคนอย่างแน่นอน เรา 3 คนที่คอยช่วยกันรดน้ำพรวนดิน จนต้นอ่อนที่ชื่อว่า ‘ความสัมพันธ์’ นี้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์แข็งแรง


แม้ว่าความเป็นเพื่อนของผมกับพวกเขาจะมีเวลาของการอยู่ร่วมกันอันจำกัด แต่มิตรภาพนั้น จะคงอยู่ในใจของพวกเราเสมอตราบนานเท่านาน


นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย avatar image
เรื่องโดยนพ.ภิญโญ ศรีวีระชัยนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งนอกจากจะเป็นแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคองแล้ว ยังเป็นคุณหมอนักเขียนผู้ผลิตผลงานออกมาสม่ำเสมอ อย่างนวนิยายที่กลั่นกรองประสบการณ์ตรงจากการทำงานด้านการดูแลแบบประคับประคอง คือ มรณเวชกรรม และการุณยฆาต ที่ได้รางวัลการันตีมาแล้วทั้งสองเล่ม

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads