Knowledge cover image
18 ตุลาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. ฝึกจิต ใกล้ชิด เรียนรู้ ความตาย

ฝึกจิต ใกล้ชิด เรียนรู้ ความตาย

ยอมรับความตาย ด้วยการฝึกจิตใกล้ชิดเรียนรู้อยู่เสมอ จะสร้างภูมิคุ้มกันใจสำหรับการสูญเสียที่จะมาถึง ให้พร้อมเผชิญหน้ากับความตายได้อย่างมีสติ


เรื่องโดย ธารา ศรีอนุรักษ์

คนไม่เคยฝึกจิตเรียนรู้ความตาย เมื่อต้องเจอกับความตายซึ่ง ๆ หน้า เขาไม่สามารถหลับตานอนหลับดั่งเดิมได้ ทหารที่ไปรบบางคนคนเห็นเพื่อนตายต่อหน้า แม้ตัวเองสามารถรอดกลับมา แต่ก็รอดกลับมาเพียงกาย ได้ทิ้งสติสัมปชัญญะไว้กลางสมรภูมิ กลายเป็นอีกคน


ที่หมู่บ้านทางควาย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีชายคนหนึ่งไปรบยังสมรภูมิเวียดนาม เพื่อน ๆ ร่วมหน่วยเสียชีวิตหมดขณะลาดตระเวนถูกข้าศึกซุ่มโจมตี เขารอดกลับมาพร้อมภาพหลอน เห็นสีแดงสีส้ม จะคิดว่าเป็นเลือด เป็นผี เป็นปิศาจ ถูกนำส่งรักษาโรคทางประสาทอยู่หลายปี ก่อนได้รับอนุญาตให้ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ กระทั่งวันหนึ่งเขาเข้าไปในวัดธรรมโฆษณ์ เห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่งกำลังกวาดกุฏิ ขณะพระภิกษุทั้งหมดลงอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์วันพระใหญ่ เขากระหน่ำตีเณรน้อยรูปนั้นจนกระดูกแหลกเหลว ปากก็พร่ำพูดว่า ปิศาจ ๆ


คนไม่เคยฝึกจิตใกล้ชิดเรียนรู้ความตาย เมื่อต้องเจอกับความตายซึ่ง ๆ หน้า เขาไม่สามารถกลับมาเป็นดั่งเดิมได้


"ความตาย" คำสั้น ๆ แต่ความหมายอาจต้องใช้น้ำตาทั้งมหาสมุทรแทนน้ำหมึก เพื่อเขียนอธิบายถึงความโศกเศร้าของผู้คนบนโลกนี้ที่ต้องหลั่งน้ำตาให้กับคำคำนี้


ใครบ้างเกิดมาแล้วไม่เคยพานพบความตาย ทุกบ้านทุกเรือนล้วนมีความตายทั้งสิ้น ในสมัยพุทธกาลนางปฏาจาราอุ้มร่างลูกไร้วิญญาณเที่ยวหาหมอให้ช่วยรักษา เสียใจคุ้มคลั่งจนขาดสติ เดินไปทางไหนมีแต่คนหลีกหนีแตกฮือ ต่อเมื่อกระเซอะกระเซิงเข้าไปหาพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร พระองค์ใช้กุศโลบาย ดึงสตินางให้กลับมา โดยให้ตระหนักรู้ว่าบนโลกนี้ไม่มีผู้ใดไม่เคยพานพบความตาย ทุกหย่อมหญ้าล้วนมีความตาย มิใช่เพียงเราหนึ่งเดียวที่ทุกข์ คนอื่นเขาก็ทุกข์ ทุกข์ด้วยมรณะ


ชาติปิ ทุกขา (ความเกิดก็เป็นทุกข์)

ชราปิ ทุกขา (ความแก่ก็เป็นทุกข์)

มรณัมปิ ทุกขัง (ความตายก็เป็นทุกข์)


แล้วทำอย่างไรล่ะ ถึงจะอยู่ร่วมกับความตาย ด้วยท่าทีที่ถูกต้องได้


คำตอบก็คือ ต้องยอมรับความจริงให้ได้ก่อนว่า ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ทุกลมหายใจเข้าออก คือ การกร่อนทลายอายุขัยตัวเองนำไปสู่การแตกดับของสังขาร และความตายไม่ได้จำกัดอายุว่าผู้ชราเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความตาย เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยไหนก็ล้วนมีสิทธิ์ตายได้เหมือนกัน


เรื่องนี้ คุณชเนษฎ์ สิริกัมมรานนท์ ซึ่งทำงานเข็นศพไปห้องเก็บศพ พร้อมทั้งฉีดยาศพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับเรื่องฝึกจิตให้อยู่ใกล้ชิดกับคนตายได้น่าสนใจ


“โดยประสบการณ์ ผมผ่านการบวชมาหลายปี อยู่วัดได้เห็นความตาย เห็นงานศพ จนเคยชิน สมัยบวชในห้อง โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน ล้วนทำมาจากไม้กระดานโลง สิ่งเหล่านี้ทำให้ความรู้สึกผมเฉย ๆ เมื่อเห็นศพ โดยหน้าที่การงาน เวลาต้องฉีดยาให้ศพ ผมถือว่า หนึ่ง...ผมได้ค่าจ้างมาขับเคลื่อนชีวิตครอบครัว เป็นอาชีพสุจริต สอง...เป็นการช่วยเขา ให้ศพไม่เน่า ใช้ความชำนาญ ความรู้ด้านนี้มาช่วยเขา ถือว่าเป็นการทำบุญทางหนึ่งด้วย....”


และเมื่อถามต่อว่า การที่ต้องใช้ชีวิตใกล้ชิดคนตาย ใกล้ชิดศพอยู่ตลอด ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันไหม เช่น นอนหลับสนิทไหม คุณชเนษฎ์ ตอบว่า


“เมื่อเราคิดว่าเป็นการทำงาน และได้ช่วยเหลือเขาทางอ้อม สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมไม่ได้คิดอะไรมาก เวลาต้องฉีดยาศพ ผมยกมือไหว้ขอขมาศพก่อนทุกครั้งไป ไม่ได้ทำแบบไม่ให้ความเคารพ... บางศพอาจมีเอฟเฟคแปลก ๆ เป็นต้นว่าฉีดไม่เข้า มีของเสียไหลออกมา เราต้องมีสติ ไม่ใจอ่อนกลัวจนคิดเตลิดไปเรื่องอื่น...”


นี่คือมุมมองของคนที่ต้องใกล้ชิดกับศพ กับความตาย จะเห็นได้ว่า ถ้าเราฝึกใจให้ยอมรับความจริง ความตายก็จะไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ความตายคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา


มีพิธีกรรมเฉพาะถิ่นอย่างหนึ่งแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะอำเภอสิงหนคร เวลามีคนเฒ่าคนแก่ตายตามอายุขัย ลูกหลานจะไม่รีบเอาศพใส่โลง นิยมนิมนต์พระมาสวดก่อน โดยวางศพไว้บนเสื่อ คลุมร่างศพด้วยผ้าห่ม ให้พระนั่งข้าง ๆ ศพ เรียกการสวดแบบนี้ว่า “สวดดอย” การทำอย่างนี้ก็เพื่อให้พระได้พิจารณาความตายอย่างใกล้ชิด ได้เห็น ได้พิจารณาร่างกายที่ปราศจากลมหายใจ ตามบทพิจารณาบังสุกุลเป็น ที่ว่า


อะจิรัง วะตะยัง กาโย ร่างกายนี้หนอ ไม่นานนัก

ปะฐะวิง อะธิเสสสะติ จักนอนทับพื้นดิน

ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโณ ถูกทอดทิ้ง ปราศจากวิญญาณ

นิรัตถัง วะ กะลิงคะรัง ประดุจท่อนไม้และท่อนฟืนที่หาประโยขน์มิได้


รวมไปถึงวันเผาศพ ยังนิยมเปิดผาโลงให้พระได้พิจารณาผ้าบังสุกุล นำผ้าบังสุกุลพาดไว้ตามขอบโลงที่เปิดฝาแล้ว จากนั้นเจ้าภาพจะนิมนต์พระขึ้นมาพิจารณาผ้า ตามบทพิจารณาบังสุกุลตาย ที่ว่า


อะนิจจา วะตะ สังขาราสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ

อุปปาทะวะยะธัมมิโนมีความเกิดขึ้นแล้วมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

อุปปัชชิต๎วา นิรุชฌันติครั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป

เตสัง วูปะสะโม สุโขความเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลายเป็นสุขอย่างยิ่ง

 

สมัยพุทธกาล หลายต่อหลายครั้งที่พระพุทธองค์ยกเอาความตายมาสอนธรรม จนทำให้ภิกษุดวงตาเห็นธรรม เช่นคราวหนึ่ง มีภิกษุหนุ่มหลงรูปโฉมงามสะคราญของนางสิริมา นครโสภิณี (หญิงงามเมือง) แห่งกรุงราชคฤห์ ถึงขนาดเห็นหน้าแล้วหลงละเมอเพ้อหา ไม่เป็นอันกินอันนอน บังเอิญว่านางสิริมาเกิดโชคร้ายป่วยตายกะทันหัน เพื่อจะสั่งสอนธรรมภิกษุรูปนั้น พระพุทธเจ้าขอให้เก็บศพนางสิริมาเอาไว้จนกระทั่งศพเริ่มเน่า บอกให้พระเจ้าพิมพิสารสั่งให้ประชาชนมาประชุมกันที่หน้าศพนางสิริมา แล้วเรียกประชุมสงฆ์ ภิกษุหนุ่มรูปนั้นก็มาด้วย เมื่อทุกฝ่ายมาพร้อมกันแล้วพระพุทธเจ้าให้พระเจ้าพิมพิสารประกาศขายศพนางสิริมา โดยตั้งราคาเท่ากับค่าตัวของนางตอนมีชีวิต คือ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ไม่มีใครเอา ลดลงเหลือ ๕๐๐ เหลือ ๑๐๐ จนกระทั่งยกให้ฟรี ๆ ก็ไม่มีใครเอา ในที่สุดพระองค์จึงสั่งสอนธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนภิกษุหนุ่มรูปนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม

 

ดังนั้น สำหรับคนที่มีญาติเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือมีคนที่รักอยู่ในวัยชรา จึงควรเรียนรู้เรื่องการฝึกจิตใกล้ชิดเรียนรู้ความตายเอาไว้บ้าง เหมือนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันใจสำหรับการสูญเสียที่จะมาถึง เพราะเมื่อถึงวันนั้นเราสามารถเผชิญหน้ากับความตายได้อย่างมีสติ ดีกว่าไม่เตรียมตัวอะไรเลย


(ขอขอบคุณคุณชเนษฎ์ สิริกัมมรานนท์ เจ้าหน้าที่เวรเปลและฉีดยาศพ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ให้ข้อมูล)

ธารา ศรีอนุรักษ์ avatar image
เรื่องโดยธารา ศรีอนุรักษ์นักเขียน ‘รางวัลรพีพร’ เจ้าของนามปากกา ธาร ธรรมโฆษณ์ มีผลงานรวมเรื่องสั้นมาแล้ว 4 เล่ม วรรณกรรมเยาวชน 5 เล่ม บทกวี 3 เล่ม เรียนจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ (มจร.) เคยได้รับรางวัลงานเขียน เช่น เรื่องสั้นชนะเลิศมติชนอวอร์ด รองชนะเลิศวรรณกรรมเยาวชนรางวัลแว่นแก้ว รางวัลชนะเลิศหนังสือดีเด่น สพฐ. เป็นต้น

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads