- คลังความรู้
- การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้
การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้
ประเด็นปัญหาด้านกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในประเทศไทย ที่ต้องก้าวให้ทันกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
เรื่องโดย ไพศาล ลิ้มสถิตย์
สังคมไทยปัจจุบันครอบครัวมีขนาดเล็กลง แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันของสมาชิกในครอบครัว แต่ก็มีหลายครอบครัวที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพัง ไม่มีคนดูแล บางครอบครัวพ่อแม่ยังอาศัยอยู่กับลูก หลาน แต่ก็ไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม บางกรณีผู้สูงอายุอาจถูกคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ผู้ดูแลนำเงิน ทรัพย์สินไปใช้สอยส่วนตัวโดยผู้สูงอายุไม่ยินยอม กฎหมายจะมีมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไม่อาจจัดการสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองได้อย่างไร
ปัญหาการดูแลตนเองและการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย
กรณีศึกษาที่เป็นข่าวดังทางสื่อมวลชนคือ กรณีอาม่าฮวย อายุกว่า 80 ปี เดิมอาศัยอยู่กับลูกชายคนโต เมื่อมีอาการป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง แพทย์ให้กลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ ลูกสาวไปรับตัวไปอยู่ด้วยเมื่อปี 2556 ต่อมาปี 2559 อาม่าได้เขียนหนังสือระบายความในใจว่า “ไม่มีความสุข อยากกลับบ้าน” เมื่อลูกชายคนโตทราบข่าว จึงรีบเดินทางไปรับอาม่าฮวยทันที และพาไปรักษาตัวจนอาม่าอาการดีขึ้น แต่เมื่อตรวจดูบัญชีเงินฝากธนาคารพบว่า มีการเบิกถอนไปจำนวนมากกว่า 250 ล้านบาท จนทราบภายหลังว่ามีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินจากการเซ็นชื่อเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือในขณะที่อาม่ากำลังนอนป่วยอยู่ ปี 2562 อาม่าฮวยเป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้องลูกสาวตนเองเป็นคดี 2 คดี โดยคดีแรก ยื่นฟ้องคดีลักทรัพย์ราว 25 ล้านบาท โดยลูกสาวพาอาม่าขณะป่วยอยู่ไปเบิกเงินยังธนาคารโดยอาม่าไม่ยินยอม และนำเงินเข้าบัญชีตัวเอง
เดือนพฤศจิกายน 2565 ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า ลูกสาวจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ของมารดา ให้ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุพการีโดยใช้โอกาสที่จำเลยเป็นผู้ดูแลระหว่างโจทก์เจ็บป่วย ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทั้งเงินที่จำเลยลักไปเป็นเงินจำนวนสูงมาก นับเป็นเรื่องร้ายแรง ส่วนคดีที่สองอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล
ยังมีกรณีศึกษาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งผู้ป่วยด้วยโรคบางโรค หรือผู้สูงอายุที่ไม่อยู่ในภาวะที่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยบุคคลอื่นในการดูแลชีวิตประจำวัน รวมทั้งการช่วยดูแลเมื่อเจ็บป่วย แต่กลับไม่ได้รับการดูแลอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เช่น ข่าวกรณีผู้ดูแลผู้ป่วยนำมือถือของผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุไปโอนเงินเข้าบัญชีตนเองโดยทุจริต หรือกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือผู้ป่วยติดเตียง ญาติร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมระยะท้าย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยติดเตียง ให้เป็น “คนไร้ความสามารถ” ตามกฎหมาย ซึ่งคนไร้ความสามารถจะอยู่ในความอนุบาลของ “ผู้อนุบาล” ที่มักเป็นคนใกล้ชิดในครอบครัว อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่ผู้อนุบาลบางรายมิได้รักษาผลประโยชน์ของคนไร้ความสามารถ แต่กลับดำเนินการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถ และไม่ให้การดูแลคนไร้ความสามารถอย่างเหมาะสม บางราย เมื่อศาลแต่งตั้งลูกเป็นผู้อนุบาลแล้ว ถึงกับทอดทิ้งพ่อแม่ตนเองที่เป็นคนไร้ความสามารถไปเลยก็มี
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนรับทราบมาด้วยตนเองคือ คุณป้าท่านหนึ่งอายุ 80 ปีกว่าปี อาศัยอยู่ซอยทองหล่อ ท่านเริ่มป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้บ้าง ไม่มีลูกหลานหรือญาติ แต่มีคนใกล้ชิด อดีตผู้ร่วมงานช่วยกันดูแลท่านเป็นอย่างดี ดูแลกิจวัตรประจำวัน จ้างคนดูแล พาไปพบแพทย์ตามนัด วันหนึ่งมีสตรีคนหนึ่งที่เป็นคนใกล้ชิดของเพื่อนคุณป้า ได้เข้ามาเสนอโครงการดูแลผู้สูงอายุ โดยขอให้คุณป้าช่วยสนับสนุนเงินทุนเริ่มต้น คุณป้ามีความเชื่อใจเพื่อนของท่านเป็นอย่างมากเพราะคบหากันมานานหลายสิบปีตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จึงคิดว่าจะมอบจิวเวลรี่สร้อยเพชร แหวนเพชรบางส่วนของคุณแม่ของคุณป้าให้เป็นทุนดำเนินโครงการ ต่อมาสตรีผู้นั้นได้มาพบคุณป้า พูดจาหว่านล้อมว่าจะขอนำจิวเวลรี่ไปช่วยเก็บรักษาไว้ให้ คุณป้าเกรงใจเพื่อนของท่านมาก จึงมอบจิวเวลรี่ที่ท่านรักมากหลายสิบเส้น ซึ่งเป็นสมบัติของคุณแม่ของคุณป้ามอบไว้ให้
ผู้เขียนทราบว่า โครงการดังกล่าวที่สตรีผู้นั้นกล่าวอ้าง ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด และอาจไม่มีอยู่จริงก็เป็นได้ ผู้ดูแลและคนใกล้ชิดเคยเล่าว่าคุณป้าเคยถามหาถึงจิวเวลรี่บ่อยครั้งเพราะเกรงว่าจะไม่ได้คืน ท่านไว้วางใจเพื่อนรักของท่าน แต่คุณป้าเคยปรารภให้ฟังหลายครั้งว่า ท่านไม่ไว้ใจสตรีผู้นั้นเลย แต่เกรงใจเพื่อนรักของท่าน จนบัดนี้ คุณป้าเริ่มมีอาการโรคสมองเสื่อมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับจิวเวลรี่คืนจากสตรีคนนั้น จึงไม่แน่ใจว่า คุณป้าจะได้รับจิวเวลรี่ของคุณแม่ที่มีมูลค่านับล้านบาทคืนมาเมื่อใด
ความล้าสมัยของกฎหมายไทย
ปัญหาข้างต้นที่เกิดกับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลจัดการตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิจวัตรประจำวัน การนัดพบแพทย์ การจัดการทรัพย์สิน เพราะบางกรณีสมาชิกในครอบครัว หรือบุคคลภายนอกก็อาจเข้ามาแสวงหาประโยชน์โดยทุจริต สาเหตุของปัญหาเกิดจากความล้าสมัยของกฎหมายไทย โดยเฉพาะบทบัญญัติบางส่วนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 เกี่ยวกับความสามารถของบุคคลซึ่งใช้มาเป็นเวลานาน ไม่มีการแก้ไขปรับปรุงในสาระสำคัญมาเป็นเวลานานเกือบ 100 ปี ประกอบกับสถานการณ์สังคมสูงวัยของไทยในปัจจุบัน ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น จึงกลายเป็นช่องว่างให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุในปัจจุบัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องคนไร้ความสามารถ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้อนุบาลเป็นการทั่วไป ไม่มีกำหนดเวลาการทำหน้าที่เป็นผู้อนุบาล มีเพียงการบัญญัติเรื่องการสิ้นสุดของผู้อนุบาลเท่านั้น
สำหรับความหมายของ "คนไร้ความสามารถ" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 คือ บุคคลวิกลจริต ซึ่งศาลได้ตีความขยายความรวมไปถึง ผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายด้วยเอง มีอาการอัมพาต หรือป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม โรคเส้นเลือดสมอง ทั้งนี้ ศาลจะสั่งให้ผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถตามคำร้องขอของคู่สมรส บุพการี (ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ยา ตายาย ทวด) ผู้สืบสันดาน (ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ) หรือผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลตามความเป็นจริง หรือพนักงานอัยการจะร้องขอศาลเองก็ได้ ผลของคำสั่งศาลคือ คนไร้ความสามารถที่ศาลสั่งจะถูกจำกัดสิทธิในการทำกิจการหรือการใด ๆ อันที่จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ทางกฎหมาย หากผู้อนุบาลไม่เห็นชอบด้วย ก็อาจถูกบอกล้างได้ฐานโมฆียกรรม (มาตรา 29 ป.พ.พ.)
พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายที่บัญญัติอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ คือ การกำหนดนโยบายและแผนหลักเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุน สถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุ การจัดการสวัสดิการของภาครัฐ การช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผู้สูงอายุ แต่พบว่ากลไกการการพิทักษ์หรือคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุเป็นกรอบกว้าง ๆ จึงมิได้กำหนดประเด็นที่เชื่อมโยงกับสิทธิผู้สูงอายุตามกฎหมายอื่น และกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ครอบคลุมถึงผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
สิทธิผู้สูงอายุของสหประชาชาติ
เมื่อปี พ.ศ.2534 สหประชาชาติได้มีมติรับรอง “หลักการสำคัญสำหรับผู้สูงอายุของสหประชาชาติ” (the United Nations Principles for Older Persons) 18 ประการ มีเป้าหมายสำคัญคือ สิทธิของผู้สูงอายุของสหประชาชาติ มิได้เป็นแนวคิดเรื่องการขอความช่วยเหลือหรือการสงเคราะห์จากภาครัฐ แต่สิ่งที่รัฐบาลของแต่ละประเทศควรดำเนินการคือ การสร้างโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุที่จะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพหรือสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
หลักการสำคัญสำหรับผู้สูงอายุที่น่าสนใจ ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างครบถ้วนในทางปฏิบัติ เช่น “ข้อ 10 ผู้สูงอายุควรได้รับประโยชน์จากการดูแลสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวและระบบบริการสุขภาพในชุมชนที่สอดคล้องกับคุณค่าทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ” “ข้อ 12 ผู้สูงอายุควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการทางสังคม บริการทางกฎหมาย เพื่อรักษาสิทธิ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ และสุขภาพ” และ “ข้อ 17 ผู้สูงอายุควรสามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัย และไม่ถูกละเมิดทางร่างกายหรือจิตใจ” (ข้อมูลจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การศึกษาทบทวนกฎหมายไทยเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุและแนวคิดของสหประชาชาติ สนับสนุนโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สสส. (2560), น.5-8.)
การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ในต่างประเทศ
จากการศึกษากฎหมายต่างประเทศพบว่า มีมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ เพื่อให้ได้รับการดูแลสุขภาพ กิจวัตรประจำวัน หรือจัดการทรัพย์สินต่าง ๆ ปรากฏเป็น 2 รูปแบบคือ
รูปแบบที่ 1 การยื่นคำร้องขอตั้งผู้พิทักษ์สิทธิ (guardian) ต่อศาล
ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีกฎหมายที่บัญญัติในเรื่อง guardian ซึ่งบุคคลที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือผู้ที่คิดว่าตนเองอาจจะมีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถดูแลตนเองได้ในอนาคต สามารถร้องขอศาลให้แต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น guardian ของตนเองได้ และมีระบบการตรวจการทำหน้าที่ของ guardian
เช่น กฎหมายแพ่งของเยอรมันบัญญัติให้ผู้มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งไม่สามารถจัดการดูแลการงานต่าง ๆ ของตนเองทั้งหมดหรือในบางเรื่อง เนื่องด้วยมีป่วยเป็นโรคทางจิตเวช (mental illness) หรือมีความพิการทางกาย อาการทางจิตเวชที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตหรืออารมณ์ รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาในการจัดการดูแลการงานตนเองสามารถแต่งตั้งบุคคลหรือองค์กรใด ๆ เป็น guardian ได้ด้วยตนเองด้วย ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสมาชิกในครอบครัว ญาติ หรือคนใกล้ชิด กฎหมายต่างประเทศอนุญาตให้มีการแต่งตั้ง guardian ได้ โดยไม่รอเวลาให้บุคคลนั้นอยู่ในสภาพที่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเจ็บป่วยหนักจนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้เหมือนกฎหมายไทย เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายเยอรมันคือ การให้ผู้ที่เป็น guardian ทำหน้าที่เป็นช่วยเหลือในการจัดการงานต่าง ๆ ตามความประสงค์ของผู้แต่งตั้งเป็นสำคัญ
โดยทั่วไปแล้ว guardian อาจมีบทบาทหลายด้านคือ มีหน้าที่ตัดสินใจด้านกฎหมาย การจัดการทรัพย์สิน การตัดสินใจเรื่องการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้แต่งตั้งว่าได้มอบหมายให้จัดการดูแลเรื่องใดบ้าง เช่น มอบหมายให้ดูแลเรื่องสุขภาพ การพบแพทย์ตามนัด การพาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ การช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน กฎหมายเยอรมันและประเทศส่วนใหญ่ บุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมายจะต้องร้องขอต่อศาลให้แต่งตั้ง guardian
ผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ในระยะต้น หรือมีปัญหาในการเดินทางหรือเคลื่อนไหวร่างกาย ตามกฎหมายเยอรมัน ศาลสามารถแต่งตั้งสมาชิกในครอบครัว อาสาสมัคร แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่แสวงหากำไรที่ทำงานที่เกี่ยวข้อง (recognized custodianship association) หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ทำหน้าที่เป็น guardian ของผู้สูงอายุก็ได้ โดย guardian มิได้จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีความใกล้ชิดทางสายโลหิตเท่านั้น
กล่าวคือ ผู้สูงอายุจะเป็นผู้เลือกบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็น guardian เอง แต่หากไม่ได้เลือกบุคคลใดไว้ ศาลก็จะพิจารณาว่าบุคคลหรือองค์กรใดที่มีความเหมาะสม โดยอาจขอคำแนะนำจากผู้ให้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ศาลจะแต่งตั้งมากกว่า 1 คนก็ได้ ทั้งนี้ จะต้องไม่ขัดต่อความต้องการของผู้สูงอายุหรือผู้สูงอายุที่ guardian จะเข้าดูแล
ในบางประเทศอาจมีเนื้อหาหรือขั้นตอนที่ต่างกัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายของมลรัฐต่าง ๆ จำนวน 49 มลรัฐได้บัญญัติกฎหมายเรื่อง guardian แล้ว ซึ่งจะมีเงื่อนไขของศาลที่จะร้องขอให้แต่งตั้ง guardian ที่ค่อนข้างยุ่งยากกว่าประเทศในยุโรป
รูปแบบที่ 2 การแต่งตั้งทรัสตี (trustee)
เป็นการจัดการทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง โดยเจ้าของทรัพย์สินจะทำสัญญาแต่งตั้งทรัสตีซึ่งจะเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินแทนเจ้าของหรือผู้รับประโยชน์ (beneficiary) ทรัสตีมีหน้าที่นำทรัพย์สินที่ได้รับโอนไม่ว่าจะเป็นเงิน หุ้น ทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ไปลงทุนหาประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุด ทรัสตีอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทที่ประกอบกิจการนี้ก็ได้ โดยจะได้รับค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ
ข้อจำกัดของทรัสตีคือ ทรัสตีจะมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการดูแลสุขภาพ หรือกิจวัตรประจำวันของเจ้าของทรัพย์สินแต่อย่างใด อีกทั้งเจ้าของทรัพย์สินที่จะเลือกใช้วิธีการนี้มักจะต้องเป็นผู้มีฐานะทางการเงินดี เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงโดยคำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินที่ต้องบริหารจัดการ เช่น หากมีกองทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง จะถูกเก็บค่าธรรมเนียมสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี การก่อตั้งทรัสตีเพื่อจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลตามกฎหมายไทย ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686
จากข้อมูลกฎหมายต่างประเทศจะเห็นว่า มีความก้าวหน้าในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่เป็นคนไร้ความสามารถ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ คล้ายคลึงกับกฎหมายเกี่ยวกับ living will ในต่างประเทศ หรือการแสดงเจตนาแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดที่ทำหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ ซึ่งกฎหมายไทยในเรื่องนี้คือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12
จึงควรมีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องคนไร้ความสามารถที่มีเนื้อหาล้าสมัย ส่งผลทำให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ถูกละเมิดสิทธิหลายประการ เพราะไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของบุคคลได้อย่างแท้จริง โดยควรใช้รูปแบบการแต่งตั้งผู้พิทักษ์สิทธิ (guardian) ในต่างประเทศ
ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรให้ความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในประเด็นเหล่านี้ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยของไทยที่คงจะพบปัญหาเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคต