- คลังความรู้
- ผ้าสกปรกเช็ดกระจกไม่สะอาด
ผ้าสกปรกเช็ดกระจกไม่สะอาด
วิชาใจ บทที่ 3 ว่าด้วยการดูแลใจโดยเริ่มจากพื้นฐานของการดูแลกาย และรอบ ๆ กาย
เรื่องโดย พระจิตร์ จิตฺตสํวโร
ในช่วงที่ผ่านมา มีญาติธรรมมาระบายความไม่สบายใจ และขอคำแนะนำในการดูแลตนเองและผู้อื่นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อต้องดูแล หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่รู้สึกว่า ‘เอาไม่ค่อยอยู่’ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็กต่างเจนฯ บุพการี หรือญาติผู้ใหญ่ที่ดูแลได้ยาก ลูกหลานที่มีความลำบากด้านพัฒนาการ หรืออารมณ์ รวมไปถึงเพื่อนร่วมงานที่มีความคิดอ่าน ความเชื่อ อุปนิสัยใจคอที่แตกต่างกันมาก
ผู้เขียนเป็นเพียงนักบวชที่ยังต้องฝึกฝนตนเองอีกมาก ไม่ได้มีพื้นฐานการศึกษาด้านจิตวิทยา หรือได้รับการอบรมด้านนี้โดยเฉพาะ จึงทำได้เพียงแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางที่ตนใช้อยู่ ในขอบเขตที่พอมีประสบการณ์ตรงเท่านั้น
เรื่องนี้ค่อนข้างยาว จะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นตอน ๆ ไป โดยครั้งนี้จะขอเริ่มจากการดูแลตนเองให้ดี เสียก่อน วลีที่ใช้เตือนใจให้ดูแลตนก็ตามชื่อบทความเลยครับ ‘ผ้าสกปรกเช็ดกระจกไม่สะอาด’
เพราะพื้นฐานที่มั่นคงเรียบร้อย ทำให้เราพร้อมที่จะดูแลพื้นที่ส่วนขยายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ก่อนจะดูแลใคร ผู้เขียนจะให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองให้เรียบร้อยดีเสียก่อน ไม่ปล่อยให้ความบกพร่องในการดูแลตนเองของเรา สร้างปัญหา สร้างงาน สร้างภาระให้กับตนเองและผู้อื่น
ความรับผิดชอบต่อตนเองในระดับพื้นฐานที่สุด ได้แก่ การดูแลสุขภาพกายให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีตามวัย ในส่วนนี้ รวมไปถึงการดูแลโภชนาการ การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่พอเหมาะพอดี สุขภาพอนามัย ของร่างกาย เช่น ระบบขับถ่าย หลัง คอ กล้ามเนื้อต่าง ๆ ฟัน สายตา เป็นต้น
ละเอียดลงไป แต่สำคัญมากคือ ดูแลสุขภาพจิตใจให้เป็นปกติสุข ไม่ปล่อยให้ใจรกรุงรัง หรือมอมแมม ด้วยอะไรที่ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ เช่น ความกังวล ความชอบความชัง ความฟุ้งซ่าน ความคิดที่ไม่เข้าท่า อารมณ์ขุ่นมัว โดยส่วนตัว จะให้ความสำคัญกับความปกติสุขของใจมากทีเดียว
จะว่าไป การสำรวมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดเรียบร้อย และมีพฤติกรรมถูกต้องเหมาะสม เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ระรานอันธพาลผู้อื่น ไม่สร้างปัญหาให้กับตนเอง
นี่เป็น full-time job คือ ความรับผิดชอบที่ต้องทำยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อวัน เจ็ดวันต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
ขยายออกมารอบ ๆ ตัวอีกสักนิด ก็เป็นความรับผิดชอบต่อที่อยู่อาศัย ที่ควรดูแลให้สะอาดเรียบร้อย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะใช้อะไรก็ไม่ต้องเสียเวลาหา ของที่ไม่ได้ใช้ก็หาวิธีนำไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์ อะไรเสียก็ซ่อม สำหรับผู้เขียนเอง รอบ ๆ ที่พัก มีต้นไม้ และถนนทางเดินให้เจริญสติกับการเก็บกวาดอยู่ไม่น้อย
ถัดมาก็คือ หน้าที่พื้นฐานตามบทบาทของตน ถ้าจะนิยามความรับผิดชอบในระดับนี้แบบง่าย ๆ ก็คือ งานของคนอื่นจะยุ่งขึ้น ถ้าเราบกพร่องต่อความรับผิดชอบส่วนนี้ของตน พอเห็นภาพไหมครับ
หวังว่าบทความนี้จะพอให้เราเห็นความสำคัญของ self care คือดูแลตนเองให้พร้อม ที่จะขยายพื้นความรับผิดชอบ หรือพื้นที่แห่งคุณงามความดีออกไปนะครับ
โลกต้องการเรา ดูแลตัวเองให้ดี ๆ นะ
ภาพประกอบ: จิราพร รอดมา