Knowledge cover image
5 กันยายน 2565
  1. คลังความรู้
  2. พลิกปัญหา ให้เป็นปัญญา

พลิกปัญหา ให้เป็นปัญญา

วิชาใจ บทที่ 2


เรื่องโดย พระจิตร์ จิตฺตสํวโร

บทความก่อนหน้านี้ เราพูดถึงการดูแลตนเองให้มีความพร้อมเมื่อต้องดูแลผู้อื่น


บทความนี้เราจะแลกเปลี่ยนกันต่อถึงแนวทาง หรือวิธีการวางใจเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เรารู้สึกว่า ‘เอาไม่ค่อยอยู่’ ซึ่งอาจเป็นญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ หรือคนต่างเจนฯ รวมไปถึงเพื่อนร่วมงานที่มีความคิดอ่าน ความเชื่อ อุปนิสัยใจคอที่แตกต่างกันมาก 


ส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนใช้หลักเกณฑ์ง่าย ๆ 2 ข้อ คือ 


1. ให้น้ำหนักกับการทำเข้าใจ และยอมรับเขา มากกว่าปรารถนาให้เขาเข้าใจ และยอมรับเรา 


พึงระลึกว่าเราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก หากจะหวังให้คนมาเข้าใจเรา หรือเห็นใจเรา ย่อมสมหวังบ้าง ผิดหวังบ้างเป็นธรรมดา จึงเลือกที่จะพลิกบทบาทจากผู้ขอความเข้าใจ มาเป็นผู้ทำความเข้าใจ ซึ่งได้ผลดีกว่ามาก 


อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีข้อมูลอย่างครบถ้วน หรือเห็นด้วยกับตรรกะ หรือหลักคิดของเขา ไม่เลย แค่เข้าใจคนเราผ่านอะไรมาต่างกัน มีชุดประสบการณ์ มีการเรียนรู้ มีชุดความคิดความเชื่อที่แตกต่างกัน มีความท้าทาย มีปัญหา มีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบไม่เหมือนกัน ย่อมมีความคิดอ่านที่แตกต่างกันเป็นธรรมดา เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว


เบื้องหลังพฤติกรรมไม่พึงประสงค์มักมีปัญหาที่เจ้าของพฤติกรรมไม่ตระหนัก หรือตระหนักแต่ยังไม่ได้แก้ไข หรือยังแก้ไขไม่จบ หรือควบคุมไม่อยู่ เรื่องแบบนี้ ไม่มีใครแก้ให้ใครได้ ต่างคนต่างต้องแก้ไขตนเอง…


เมื่อคิดได้เช่นนี้ จะไปโกรธ ไปเสียใจ ไปหงุดหงิดอะไร เห็นใจกันดีกว่า


ที่ไหนมีแสงสว่าง ความมืดย่อมอยู่ไม่ได้ ใจที่มีความเข้าใจมีความเห็นอกเห็นใจ ย่อมไม่ถูกความโกรธ ความเสียใจ ความหงุดหงิดผิดหวังรุกราน 


2. ให้ความใส่ใจ แต่ไม่เอามาใส่ใจ 


พิจารณาปฏิสัมพันธ์เป็นหน้าที่ เราเพียงทำหน้าที่ไปตามสมมติให้ดี ไม่ถือเอา ไม่รับเอาทีท่า หรือถ้อยคำใด ๆ มาเป็นอารมณ์ 


ความคิดอ่าน คำพูด ทีท่าของใคร ก็เป็นเรื่องของคนนั้น แม้จะพาดพิงถึงเรา ไม่ว่าจะเป็นคำชื่นชม หรือตำหนิ สรรเสริญ ด้อยค่า หรือคำกลาง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมทั้งหลาย เป็นเพียงของผู้กระทำ ผู้พูด ผู้คิดเท่านั้น หากเราไม่เอามาใส่ใจ ไม่ถือสา 


นี่คือโอกาสในการเรียนรู้ที่จะพัฒนาสติปัญญาในผัสสะทั้งหก คือ ไม่ยินดียินร้ายกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ…


หมั่นสังเกตจนเข้าใจความแตกต่าง และผลสืบเนื่อง จากการรับรู้ที่กอปรด้วยสติ และไม่มีสติ การรับรู้ในลักษณะไหนที่จะยังความสงบร่มเย็นใจ การรับรู้ในลักษณะไหนที่ทำให้เกิดเรื่องเกิดราว เกิดความยินดียินร้าย เกิดความพอใจไม่พอใจ เกิดความรักความชัง เกิดอัตตาตัวตน 


โลกคือครูสอบอารมณ์ ผู้คนทั้งหลายคือครูสอบอารมณ์ สอบตกผ่านสอบผ่านบ้างเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปเซ็ง อย่าไปท้อ… ครูโหดๆ นี่แหละ ที่ทำให้เราเก่ง


ภาพประกอบ: จิราพร รอดมา 

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร  avatar image
เรื่องโดยพระจิตร์ จิตฺตสํวโร ศึกษาและปฏิบัติภายใต้แนวทางของพระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร วัดป่าธรรมอุทยาน จังหวัดขอนแก่น นอกเหนือจากการศึกษาธรรมชาติ และปฏิรูปชีวิตตนเอง ท่านมีโอกาสแบ่งปันหลักธรรมและวิธีการดูแลจิตใจ ผ่านบทความในเพจวิชาใจ และงานจิตอาสาดูแลประคับประคองให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ปัจจุบันพำนักอยู่ที่ สวนร่มเย็ญ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads