Knowledge cover image
6 พฤษภาคม 2568
  1. คลังความรู้
  2. เกม พระ ทำ

เกม พระ ทำ

เข้าใจหลักคำสอนของพุทธศาสนาผ่าน "เกม”


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากเมื่อได้รู้ว่าการทำความเข้าใจหลักคำสอนในพุทธศาสนาสามารถเรียนรู้ได้ผ่าน “เกม” ต่าง ๆ คำสอนหรือธรรมะจึงไม่ใช่เรื่องท่องจำหรือต้องอ่านผ่านคำบาลีที่เราไม่รู้ความหมาย กลายมาเป็นการเล่นเกมผ่านการจำลองเหตุการณ์การใช้ชีวิต เราจึงได้เรียนรู้และตระหนักในธรรมะด้วยการประจักษ์จากประสบการณ์จริงของเราเอง 


หลังวันปีใหม่ 2568 ไม่นานทีมงาน “ชีวามิตร” ได้รับโอกาสดีได้เข้ากราบและสนทนาเรื่องราวคำสอนธรรมะผ่าน “เกม” อันเกิดจากการออกแบบของกลุ่มพระวัดญาณเวศกวัน ซึ่งมี “พระครูเมธังกร (ปณต คุณวฑฺโฒ)” และ “พระอาจารย์ปฏิพล ภูริเมโธ” เป็นตัวแทนบอกเล่าเบื้องหลังแนวคิด ที่มาที่ไปและแนะนำตัวอย่างบอร์ดเกมภาวนาที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความเข้าใจและเข้าถึงธรรมะอย่างไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งพระครูทั้งสองท่านได้เมตตาให้คำตอบที่กระจ่างเกี่ยวกับความหมายของเพื่อนชีวิตในมุมมองของท่านอีกด้วย 


(บทความนี้ทำได้อย่างมากคือนำเสนอเบื้องหลังความคิดและคำบอกเล่าถึงประสบการณ์จากเกม แต่หากผู้อ่านต้องการเข้าใจหรือมีประสบการณ์เรียนรู้ธรรมะผ่านเกมอย่างแท้จริง แนะนำให้เข้า www.nyanavesk.online เว็บไซต์ของวัดญาณเวศกวันแล้วสมัครเล่นเกมด้วยตนเอง) 



เกมภาวนา: ที่มาและที่ไป 


พระอาจารย์ปฏิพล ภูริเมโธ (ท่านบิ๊ก) เล่าถึงที่มาของการพัฒนาการสอนธรรมะผ่านเกมว่าเกิดจากการที่กลุ่มพระอาจารย์วัดญาณเวศกวันได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาความสุขในชีวิตและการทำงาน ที่มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับคณาจารย์หลาย ๆ ท่าน และระหว่างการสอนพบปัญหาเหมือน ๆ กันคือ เฉพาะการบรรยายไม่สามารถสื่อสารให้นักศึกษาเข้าถึงหรือเข้าใจเนื้อหาวิชาได้อย่างถ่องแท้จึงได้มีการหาทางออกร่วมกัน อาทิการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาสอนให้เล่นบอร์ดเกม จากนั้นกลุ่มพระอาจารย์วัดญาณฯ จึงได้พัฒนาเกมภาวนาต่าง ๆ ขึ้นมานับวันเวลาถึงวันนี้ก็ร่วม 7 ปีแล้ว 


“ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินเขานําบอร์ดเกมมาให้ทีมอาจารย์ได้เรียนรู้ พอเราเห็นประโยชน์ว่าสามารถเรียนรู้เรื่องเงินผ่านบอร์ดเกมได้แทนการฟังบรรยาย นี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทีมพระทีมอาจารย์ที่สอนคุยกันว่าเราจะค่อย ๆ พัฒนาเกมหลาย ๆ วัตถุประสงค์ หลาย ๆ เกมขึ้นมา เป็นเกมที่เราจะสามารถตอบโจทย์สิ่งที่เราจะสื่อสารให้นักศึกษาได้เรียนรู้” 



จากจุดเริ่มต้นเกมแรกที่พัฒนาขึ้นคือ เกมชีวิต (Game of Life) (รายละเอียดจะอยู่ในหัวข้อถัดไป) ซึ่งเป้าหมายของเกมเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิต และจากเกมออฟไลฟ์กลุ่มพระอาจารย์ก็ได้คิดและพัฒนาเกมต่อมาอีกหลากหลายเพื่อนำหลักธรรมไปสู่ผู้สนใจอย่างแยบยล โดยท่านบิ๊กขยายความคำว่ากลุ่มพระอาจารย์ผู้ออกแบบเกมว่ามีใครบ้างดังนี้  


คณะพระผู้ออกแบบมีท่านพระครูเมธังกร (ท่านปณต) มีอาตมา-พระปฏิพล กับเพื่อนพระอีก 2 ท่านที่ตอนนี้ลาสิกขาไปแล้ว รวมทั้งญาติโยมที่มีความรู้หลากหลายด้าน เช่น การเงิน การศึกษา นอกจากนี้ก็มีอาจารย์ท่านอื่นที่ได้เป็นผู้ร่วมเล่นร่วมฟีดแบ็ก ซึ่งก็เป็นเหตุปัจจัยให้พระได้พัฒนาต่อยอดด้วย ก็คือคุณหมอแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราชพยาบาล


พระครูเมธังกรเมตตาอธิบายให้ฟังถึงการพัฒนาเกมโดยใช้หลักคำสอนทางพุทธศาสนามาเป็นสารตั้งต้นเกมว่า 


จริง ๆ เกมเริ่มจาก 2 ส่วนคือ pain point หรือปัญหาที่เราเห็นในสังคมหรือกับผู้เรียนว่าผู้เรียนตั้งคําถามอะไรที่อยากจะรู้หรือจําเป็นต้องใช้ในการดําเนินชีวิตร่วมกันในสังคม และก็มองดูว่าสิ่งที่พุทธศาสนามีคําตอบในเรื่องนั้นเราจะตอบได้อย่างไรบ้าง แล้วเราก็หยิบเอาโจทย์หรือสถานการณ์นั่นแหละมาสร้างเป็นเกมเพื่อให้ผู้คนเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น

“ตอนที่เราพยายามที่จะสื่อสารธรรมะแทนที่เราจะบอกหรือสอนว่าเราต้องทําอย่างไรหรือควรจะใช้ชีวิตอย่างไร เราลองเปลี่ยนมาเป็นการสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียนได้สัมผัสกับสถานการณ์หรือโจทย์แล้วได้ลองหาคําตอบด้วยตัวเอง ซึ่งคําถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตมันไม่ได้มีเฉพาะการที่เราจะดูแลจัดการกับตัวเราเองหรือพัฒนาตัวเองเท่านั้น แต่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องพัฒนาและอยู่ร่วมในสังคมอย่างไร เราเจอปัญหาหลาย ๆ อย่างเช่นว่าคนดี ๆ ที่ปรารถนาดีแต่ดีคนละแบบเมื่ออยู่ร่วมกันในสังคมกลับกลายเป็นขัดแย้งหรือถึงขั้นที่ทะเลาะเบาะแว้งกันก็มี เพราะฉะนั้นเราก็เลยชวนกันมามองดูว่าคําสอนในทางพุทธศาสนาที่จะชวนให้เราเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงความเป็นเหตุปัจจัยและความเข้าใจซึ่งกันและกันนี่มีอะไรบ้าง เช่น หลักธรรมาธิปไตย คือการที่เราจะตัดสินทําอะไรในชีวิตโดยเอาความถูกต้องเป็นหลักหรือเป็นใหญ่ในการตัดสินใจ แต่มันก็มีคําถามว่าความถูกต้องคืออะไร แล้วเราจะหาความถูกต้องร่วมกันในสังคมที่แต่ละคนมีความเห็นหรือให้ความสำคัญมีความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างไร เราก็เอาสถานการณ์อย่างนี้มาลองทําเป็นเหตุการณ์จําลองก็เลยเกิดเป็นเกมอีกชุดหนึ่งเกิดขึ้น นอกจากเกมที่เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองอย่างเกมชีวิตแล้วก็มาเป็นเกมเกี่ยวกับการที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคม เช่นเกมที่ชื่อว่า Bull Battle หรือกลเกมการเมืองอย่างนี้เป็นต้น” 


หากเราสามารถเรียนรู้ชีวิตผ่านเกมต่าง ๆ ที่พระอาจารย์ออกแบบสร้างขึ้นมาได้เท่ากับว่าชีวิตเราจะพบกับความเสี่ยงในการมีชีวิตน้อยลงใช่ไหม ทีมชีวามิตรตั้งคำถามนี้ขึ้นมาระหว่างฟังพระครูเมธังกรอธิบายความหมายของการสร้างเกม พระครูเมธังกรตอบว่า 


“เจริญพร เป็นเช่นนั้น ก็เหมือนนักบินที่ฝึกขับเครื่องบินก็ต้องไปฝึกใน simulator ก่อน มันคือการลองผิดลองถูก มันไม่ได้แปลว่าเราจะขับแล้วเครื่องบินแล้วบินได้ปลอดภัยเสมอไป แต่ว่าการผิดพลาดใน simulator นั่นแหละคือโอกาสในการเรียนรู้เพราะงั้นสิ่งสําคัญแทนที่เราจะมานั่งบอกว่า เฮ้ย คุณต้องรู้เรื่องนี้นะ คุณต้องระวังตรงนี้นะ คุณต้องใส่ใจตรงนั้นด้วยนะ ผู้เรียนก็อาจจะรู้สึกว่าทําไมล่ะ จําเป็นเหรอ แต่ถ้าเกิดว่าชวนกันเข้าไปอยู่ใน simulator เลยแทนที่ผู้สอนจะบอกผู้เรียนว่าเธอต้องทําอย่างนั้นอย่างนี้ มันกลายเป็นผู้เรียนเจอกับสถานการณ์แล้วกลับมาถามตัวเองว่า ในสถานการณ์นี้ฉันจะต้องทํายังไง ผมจะต้องรู้อะไรบ้าง อืม ฉันจะต้องเตรียมตัวอะไร แล้วกระบวนการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น” 


“หลายคนอาจจะเข้าใจพลาดว่าเราทําเกมเพื่อให้เด็กสนุกกับการเล่นเกม ซึ่งถ้าแบบนั้นหลวงพ่อ-สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พูดไว้ในหนังสือเรื่องการสร้างเสริมคุณลักษณะเด็กไทยว่าผู้จัดการศึกษาที่มุ่งให้เกิดความสุขจากกิจกรรมการเรียนรู้ เราอาจจะไปผิดทางเพราะนั่นแปลว่าเรากำลังทําให้ผู้เรียนเกิดความสุขจากตัวกิจกรรม แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่เราต้องการคือ การมีความสุขได้เองในการเรียน ซึ่งขึ้นภายในตัวผู้เรียนไม่ใช่เพียงความสุขจากปัจจัยภายนอกที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งอยู่แค่เปลือกผิว ต้องไปให้ถึงขั้นของการสร้างความสุขทางการศึกษาที่แท้จริง* ฉะนั้นในการออกแบบกิจกรรมตัวเกมอาจมีความสนุกได้ แต่มันเป็นแค่เครื่องมือที่นําไปสู่ปลายทางคือการได้รู้ได้ประสบกับประสบการณ์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน  


*อ้างอิง : https://www.papayutto.org/th/book-reading/53/10



เกม พระ ทำ 


หลาย ๆ เกมก็เกิดขึ้นในหลักสูตรที่เราสอนเรื่อง general education คือการศึกษาทั่วไปที่เป็นศาสตร์พื้นฐานในการที่จะเรียนรู้ในการที่จะหาความรู้เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน หลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านใช้คํากว้างๆ ว่า วิชาชีพกับวิชาชีวิต คือในวิชาชีพเราเรียนกันเยอะแล้วล่ะ แล้วแต่ใครจะไปประกอบอาชีพอะไร แต่วิชาชีวิตที่เป็นไลฟ์สกิลในการที่จะดําเนินชีวิตเนี่ยเราก็ตีความจากตรงนี้ออกมาเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ว่าควรจะรู้อะไรบ้าง และจากจุดประสงค์ก็ออกมาเป็นเกมต่าง ๆ บางจุดประสงค์อาจจะเหมาะด้วยกิจกรรมอย่างอื่น เช่น การสนทนากลุ่มหรือการไปสัมภาษณ์ผู้คนที่มีประสบการณ์ และบางจุดประสงค์มันเหมาะที่จะทําเป็นสถานการณ์จําลองอย่างที่เล่าให้ฟังก็จะสร้างเกมขึ้นมา


จริง ๆ แล้วกระบวนการเกมก็คือการจําลองสถานการณ์ชีวิต เพียงแต่มันจําลองได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก อันนี้ในชีวิตจริงมันก็แปลว่าเราก็คือผู้เล่นคนหนึ่ง เพียงแต่ว่าเรามองเห็นหรือ เข้าใจเป้าหมายและกติกาของเกมนั้นชัดแค่ไหนใช่มั้ย ซึ่งก็เป็นเรื่องท้าทายว่าแต่ละคนคงจะมีเป้าหมายของเกมในการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน แม้แต่กติกาแต่ละคนก็อาจจะวางไว้ไม่เท่ากัน บางคนอาจจะมองว่าทําแบบนี้ได้ในเกมนี้ แต่คนบางคนบอกว่าทําแบบนี้ฉันรับไม่ได้ เพราะงั้นกติกาและเป้าหมายในเกมของชีวิตจริงก็คงจะเป็นโจทย์ที่เราแต่ละคนก็ต้องเรียนรู้ในระหว่างที่เล่นไปด้วย 


พระครูเมธังกรย้ำความคิดในจุดเริ่มต้นสร้างและพัฒนาเกมขึ้นมา และบอกว่าเกมแต่ละเกมมีการเล่นที่ต่างกัน การใช้เวลาในการเล่นก็ต่างกัน กระบวนการพัฒนาเกมใช้เวลานานพอสมควร มีการทดลองและปรับเปลี่ยนเพื่อให้ปลายทางไปสู่เป้าหมายคือแก่นหรือหลักคำสอนในพุทธศาสนาที่ต้องการสอนผ่านเกมนั้น ๆ เป็นสำคัญ 


ในตอนเล่นก็ใช้เวลาพอสมควรก็แล้วแต่เกมนะ บางเกมก็อาจจะครึ่งชั่วโมงบางเกมก็หลายชั่วโมง แต่สิ่งที่สําคัญมากกว่านั้นคือว่าพอเล่นเสร็จแล้วเนี่ยมันก็จะต้องมีกระบวนการในการมาถอดบทเรียน เราก็ใช้กระบวนการทําบทสนทนากลุ่มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ตรงนี้ก็จะต้องอาศัยกระบวนกรที่มีความเข้าใจธรรมะด้วย อาจจะเป็นพระบ้างหรืออาจจะเป็นกระบวนกรที่มีทักษะความสามารถมาช่วยกันในส่วนนี้ 


ท่านบิ๊กหรือพระอาจารย์ปฏิพลได้กล่าวถึงรายละเอียดของเกมและหลักคำสอนทางศาสนาที่เป็นต้นธารเกมนั้น ๆ โดยมีพระครูเมธังกรเล่าเสริมในบางช่วงการสนทนา  



  • Game of Life 


“เกมแรกชื่อว่า Game of Life หรือเกมชีวิตที่ Simulation ชีวิตของคน ๆ หนึ่งทั้งชีวิตให้ได้เรียนรู้เข้าใจผ่านบอร์ดเกมภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยกระบวนการหลัก ๆ เลยคือเราชวนให้เขากลับมาตั้งเป้าหมายในชีวิต ซึ่งในเกมนี้กําหนดให้มีเป้าหมาย 3 อย่าง หรือความสุข 3 อย่าง ความสุขจากการได้ใช้จ่ายทรัพย์ ความสุขจากความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และความสุขจากการได้ทํางานได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ ในชีวิต พอเราลองเล่นเองเนี่ยมันทําให้เราได้ค่อย ๆ เห็นแง่มุมต่าง ๆ ในการใช้ชีวิต เช่นว่าการที่เราจะตัดสินใจใช้เวลาที่มีจํากัดในแต่ละวัน ในแต่ละสัปดาห์ ในแต่ละช่วงชีวิตนี้ทําอะไรบ้างเพื่อตอบโจทย์ความสุขไหน มันเหมือนฝึกให้เราบริหารการมีชีวิตไปในตัว ซึ่งตรงกับหลักธรรม อัตถะ 3 ในการพัฒนาชีวิต หนึ่งเป็นเป้าหมายชีวิตของตนเอง สองเป็นเป้าหมายที่ระหว่างตนเองกับผู้อื่น แล้วก็สามเป็นเป้าหมายของคําว่าร่วมกันในการมีชีวิต” 


เกมชีวิตนี้เหมาะเล่นเป็นกลุ่มประมาณ 5 - 6 คน เมื่อจบเกมในท้ายที่สุดก็คือการถอดบทเรียน ซึ่งจบการเล่นเกมแต่ละครั้งบทเรียนที่ได้อาจเหมือนหรือแตกต่างกันแล้วแต่ผู้เล่น หรือแนวทางการเล่นของแต่ละกลุ่ม 


เริ่มต้นเกมชีวิตเราจะชวนผู้เล่นตั้งเป้าหมายชีวิต ความฝันของฉัน ในเกมนี้เราตีกรอบให้อยู่ในความสุข 3 ด้านใหญ่ๆ คือ A ความสุขความภูมิใจ ความอิ่มเอิบในการใช้ทรัพย์ / B belove score เป็น ความสุขจากการเป็นที่รัก มีความสุขได้อยู่ร่วมกัน ได้เอาใจใส่กัน ได้ ใช้เวลาร่วมกัน / และ C career credit คือความสุข ความภูมิใจในงาน คุณค่าของวิชาชีพ ประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้คน พัฒนาสังคม เป็นต้น เราจะชวนผู้เล่นกําหนดสกอร์หน่อยซิว่าในชีวิตเราจะบาลานซ์ความสุข 3 ด้านนี้อย่างไร แต่ละคนหน้าตาเป็นยังไง บางคนอาจจะบอกว่ามีให้เอเป็น 4 ให้บีเป็น 3 ให้ซีเป็น 3 อย่างนี้เป็นต้น โดยมีคะแนนเต็ม 10 จากนั้นก็เริ่มเล่นเกม  


พระครูเมธังกรอธิบายรายละเอียดการเล่นให้เข้าใจเพิ่มขึ้นพร้อมนำเกมให้ทดลองเล่น (ซึ่งตรงนี้แนะนำให้สมัครไปเล่น เพราะสนุกและได้ความรู้มาก) 


“มีการ์ดอาชีพกองกลางได้ไปคนละ 5 ใบก็เหมือนกับแต่ละคนมีโอกาสเลือกอาชีพที่จะทําแตกต่างกันไป อันนี้คุณจะเลือกเอาเวลา 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปทํางานอะไร งานแต่ละงานก็จะมีผลตอบแทนแตกต่างกัน นั่นก็เป็นรายได้ประจําบางอย่างก็จะมีความเสี่ยงที่จะต้อง random แล้วก็อาจจะแบ่งเวลาไว้อยู่กับครอบครัวเท่าไหร่ บีเลิฟการ์ดก็จะเป็นการ์ดที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตกับครอบครัวดูแลญาติมิตรพี่น้องให้เวลาให้เงิน ซึ่งรวมทั้งการไปปฏิบัติภาวนาหาความสุขในรูปแบบของสัมพันธภาพและการอยู่กับตัวเอง เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็เลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตของตัวเอง จะเอาเวลาเอาเงินที่มีไปทําอะไรแล้วจะใช้ชีวิตยังไงให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนต้นที่ว่าอยากจะได้ความสุขแต่ละแบบมากน้อยอย่างไร


สมมติว่าเล่นจบเกมแล้ว


เอบีซีที่ตั้งไว้ตอนแรกคืออยากได้ตั้งไว้ 4-3-3 แล้วพอเล่นได้ออกมาเป็น 3-2-5 แล้วก็มาดูว่ามีหนี้มีสินมีเงินทองเก็บสะสมเท่าไหร่ ตัวบาลานซ์ชีทที่เป็นงบดุลในชีวิตเป็นยังไง แต่ละคนก็จะได้ปลายทางในชีวิตออกมาแตกต่างกัน รวมทั้งในระหว่างทางด้วย เพราะฉะนั้นค่าความสุขในชีวิต มันไม่ได้วัดเฉพาะตอนจบอย่างเดียวแต่มันดูในระหว่างทางของชีวิตไปด้วย แล้วเราก็ลองมาคุยกันสิว่าตกลงแล้วหน้าตาความสุข แบบเอ แบบบี แบบซี ในชีวิตจริงมันคืออะไร มันให้คุณค่าอะไรแก่เรามันส่งผลเสียอะไรต่อเราหรือใครอย่างไรบ้างความสุขแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร สุดท้ายเราคือคนที่จะเลือกในชีวิตเราเอง แต่ว่าเราชวนทําความรู้จักในสิ่งที่เราเลือกให้ชัดก่อน 


“เกมชีวิตรวมถึงบอร์ดเกมทุก ๆ เกมที่ทีมพระได้สร้างขึ้นมาจะมีการถอดบทเรียนซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สําคัญอีกส่วนหนึ่งทุก ๆ เกมทุก ๆ ครั้ง คําถามว่าแต่ละครั้งที่ถอดบทเรียนซ้ำกันไหม คําตอบคือหลากหลาย เพราะว่าในแต่ละครั้งที่ผู้เล่นคนละคนกัน ไทม์ไลน์ที่จะเจอในเกมมันเพียงแค่คล้ายกันเท่านั้น อาจจะเหมือนบ้างแตกต่างบ้าง รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดความเข้าใจของผู้เล่นต่อเกมนี้ที่เจอ ฉะนั้นมันเลยทําให้การถอดบทเรียนค่อนข้างที่จะแตกต่าง เราอาจจะมองว่ามันเป็นการทำซ้ำก็ได้นะ การที่เล่นเกมนี้ครั้งแรกเมื่อเล่นจนจบแล้วกลับมานั่งคุยกันเราอาจจะเห็นจุดที่เราต้องพัฒนาจุดที่เราเข้าใจมันเพิ่มมากขึ้นหลังจากจบเกมแล้ว เพราะงั้นการได้ย้อนกลับมารีเพลย์ชีวิตเราใหม่อีกครั้งหนึ่งเนี่ยโดยธรรมชาติเราจะค่อย ๆ อุดช่องว่างหรือพัฒนาในส่วนที่เราลืมไปหรือพลาดไปในรอบแรก


และนอกจากเป้าหมายชีวิตแล้วอีกอีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาความสุข 5 ขั้น สุขขั้นแรกคือสุขที่เป็นพื้นฐานเลยจากการได้ยิน การได้ฟัง การกิน การสัมผัส เป็นต้น เพราะฉะนั้นจากคําว่า 5 ขั้นนี่คือการพัฒนาความสุขที่ประณีตยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนสุดท้ายคือการไม่ทุกข์อีกเลย คือการพ้นทุกข์“ 



ทีมชีวามิตรถามว่า ถ้าอย่างนั้นเล่นเกมจบจะได้ไปนิพพานเลยไหม ท่านบิ๊กยิ้มนิด ๆ ก่อนตอบว่า


คงไม่ขนาดนั้น แต่เรากําลังจะชวนให้ผู้เล่นเห็นความสุขที่มันมีมากไปกว่าสิ่งที่ผู้เล่นเข้าใจ เป็นความสุขที่ประณีต“ 


พระครูเมธังกรอธิบายเกมออฟไลฟ์เพิ่มเติมว่า 


“เกมนี้เกิดขึ้นตอนที่เรากำลังอยากจะชวนนักเรียนนักศึกษารวมทั้งคนที่เริ่มทํางานลองตอบคําถามตัวเองว่า สิ่งที่เขากําลังทําในแต่ละขณะมันสําคัญหรือจําเป็นแค่ไหน หลักการง่าย ๆ เลยในเกมก็คือมีสถานการณ์แล้วให้เราเลือกว่าเราจะทํายังไง เหมือนสมัยก่อนถ้าใครทันหนังสือการ์ตูนที่เราไปเช่าหรืออ่านตามร้าน แล้วมันจะมีหนังสือการ์ตูนที่เป็นเหมือนเกมอยู่ในนั้นน่ะ พออ่านไปถึงหน้านี้มันก็จะมีสถานการณ์เกิดขึ้นว่าคุณจะเปิดประตูไหมหรือคุณจะไม่เปิดประตู หรือคุณจะยิงคนนี้ไหมหรือไม่ยิง ถ้ายิงให้ไปหน้านั้นถ้าไม่ยิงไปอีกหน้าหนึ่ง ในแต่ละทางเลือกของชีวิตเราก็จะเลือกด้วยเหตุผลและความเข้าใจที่ดีที่สุดเท่าที่เราทําได้ แล้วเมื่อเราเลือกไปแล้วผลลัพธ์มันก็จะค่อย ๆ แตกต่างกันไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นในเกมนี้ก็จะชวนให้เห็นว่าทุกการตัดสินใจในชีวิต ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจว่าวันนี้คุณจะเข้าเรียนหรือไม่เข้าเรียน วันนี้คุณจะกินอะไร วันนี้คุณจะไปใช้เวลากับเพื่อนหรืออ่านหนังสือหรืออยู่กับแฟน บางการตัดสินใจมันมีถูกและผิด บางการตัดสินใจมันไม่มีถูกกับผิดแต่มันให้ผลที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะชวนกันเรียนรู้ได้ในเกมนี้ก็คือว่าเส้นทางชีวิตของแต่ละคนเราเลือกได้ แต่เราจะได้รับผลจากการเลือกที่แตกต่างกัน และตรงนี้แหละคือผลที่เกิดจากเหตุและเราคือคนทําเหตุนั้น แล้วมันก็จะมีหลาย ๆ เหตุที่ประกอบกันทําให้ตอนจบของเกมของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน” 


  • Grow and growth 


เกมนี้มีชื่อเล่นว่า เกมมะม่วง ท่านบิ๊กบอกว่าเป็นเกมที่จะเล่นต่อจากเกมชีวิต


“ในเกมชีวิตเราชวนให้ผู้เล่นมีเป้าหมายกว้าง ๆ ส่วนเกมมะม่วงก็มาต่อยอดในเรื่องของคําว่าเป้าหมายที่ว่าเป็นเส้นชัยหรือว่าเป็นเข็มทิศในการนําชีวิตเราไป


หลักธรรมที่นํามาใช้ในการตั้งเป้าหมายของเราในแต่ละจุดแต่ละครั้งแต่ละเรื่อง เรามีท่าทีต่อมันอย่างไร การตั้งเป้าหมายของเรามันเป็นตัณหาหรือเป็นฉันทะ” 


“แบบแรกความความคาดหวังที่เรียกว่าเป็นความอยากที่มันเป็น emotional ถ้าเราตั้งเป้าหมายด้วย emotional มันก็จะเป็นเพื่อตอบสนองตัวตนเราเรียกว่า ตัณหา หรืออีกแบบหนึ่งคือเราตั้งเป้าหมายมีความคาดหวังต่อต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วยปัญญาของเรา คือเราเข้าไปศึกษาหาเหตุปัจจัยเราเป็นอะไรได้เราทําอะไรได้ ด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ คือเรามีท่าทีหรือตั้งเป้าหมายด้วยปัญญานี้มันจะให้ความรู้สึกที่แตกต่าง การโฟกัสก็จะแตกต่างกัน ถ้าเป็น emotional ส่วนใหญ่เราจะคาดหวังที่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแทบจะไม่ค่อยได้อยู่กับปัจจุบันเท่าไหร่ ส่วนถ้าตั้งด้วยปัญญาเราจะให้เป้าหมายของเราเหมือนเป็นเข็มทิศในการพาตัวเราไปสู่ทิศทางนั้นๆ ด้วยเหตุปัจจัยที่เราจะค่อย ๆ ได้ลงมือทำ



  • Bull Battle: สงครามวัวชน สังคมโคบาล 


พระครูเมธังกรพูดถึงเกมสงครามวัวชนว่า 


“เกมนี้เล่นเหมือนเกมบันไดงูโดยมีเป้าหมายที่จะขึ้นไปบรรทัดบนสุดสูงสุดของกระดานให้ได้ โดยกระบวนการที่จะขึ้นไปก็จะชี้ชวนให้เราได้เห็นว่าเมื่อเราทุกคนมีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือขึ้นไปที่บรรทัดบนสุด ในระหว่างทางของการไปสู่เป้าหมายอันเดียวกันนั้นน่ะเราแต่ละคนสามารถที่จะส่งผลต่อกันและกันอย่างไรได้บ้าง การที่เราจะไปสู่เป้าหมายเรามองผู้ร่วมทางอย่างไร และท่าทีหรือมุมมองนั้นมันส่งผลเป็นการกระทําแล้วเกิดคอนซีเควนซ์ต่อตัวเราเองและระบบสังคมนั้นอย่างไร ซึ่งมันก็คือการจําลองสะท้อนบรรยากาศการเรียนในห้องเรียนก็ได้ที่นักเรียนแต่ละคนอาจจะมีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากจะได้ A แล้วบรรยากาศในชั้นเรียนมันเป็นอย่างไรได้บ้าง เมื่อเราทํางานอยู่ในทีมที่จะมีคนใดคนหนึ่งในทีมของเราได้โปรโมทเป็นหัวหน้าทีม เราที่กําลังทํางานร่วมกันเพื่อเป้าหมายของการเติบโตและก้าวหน้าในวิชาชีพเราจะอยู่ร่วมกันในทีมอย่างไร หรือแม้แต่เมื่อเราอยู่ในสังคมนี้ซึ่งทุกคนก็มุ่งหวังที่อยากจะทําให้สังคมนี้ดี และไปสู่เป้าหมายที่เราอยากให้สังคมนี้เป็น เราแต่ละคนที่กําลังเดินทางไปสู่เป้าหมายนี้เราเดินทางร่วมกันด้วยการจับไม้จับมือกันช่วยเหลือกันได้มากน้อยแค่ไหน หรือสภาพความช่วยเหลือนั้นมันเป็นอุดมคติที่เป็นจริงไม่ได้เลยหรือ ตั้งคําถามอย่างนี้แล้วลองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แล้วลองดูซิว่าเราทําได้ไหม แล้วถ้าไม่ได้มันติดขัดอะไร

เช่นเราตั้งสถานการณ์ว่าแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายในการที่จะทําให้สังคมดี แต่การที่จะทําให้สังคมดีแต่ละคนอาจจะให้ความสําคัญในแต่ละเรื่องที่แตกต่างกัน คนบางคนอาจจะมองว่าเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสําคัญมาก คนบางคนอาจจะมองว่าการที่จะพัฒนาเรื่องของสังคมเศรษฐกิจเป็นเรื่องสําคัญนะ คราวนี้เมื่อเรามีการตัดสินใจร่วมกัน


เช่นยกตัวอย่างว่าเราจะทําการสร้างเขื่อนสักเขื่อนหนึ่งนี่ เราจะคิดยังไง ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราเชื่อว่าดีเป็นสิ่งสําคัญเราก็จะเห็นด้วยกับการสร้างหรือไม่สร้างเขื่อนตามความคิดของเรา แต่ว่าถ้าแบบนี้พอเรามาลงคะแนนเสียงร่วมกันมันก็จะกลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่อยากได้อะไรก็จะได้สิ่งนั้น คนส่วนน้อยที่อาจจะเสียประโยชน์เพราะการตัดสินใจนั้นก็ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นหรือว่ามีส่วนร่วมในการที่จะทําให้โครงการนั้นเกิดหรือไม่เกิด คําถามก็คือว่าในสถานการณ์นี้แล้วเราควรจะทํายังไงดี ถ้าเราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ในฝั่งที่เป็นผู้ชนะเราอาจจะเห็นด้วยกับการชนะโหวต ถ้าเราอยู่ในฝั่งที่แพ้โหวตล่ะเราจะคิดยังไง แล้วเราลองเอาสถานการณ์นี้มาคลี่ดูเราอาจจะพบว่าสุดท้ายแล้วในการตัดสินใจมันไม่ได้แปลว่าใครได้ประโยชน์ แต่มันอาจจะต้องชวนให้ทุกคนหรือทุก stakeholder ที่เกี่ยวข้องอยู่บนกระดานเห็นผลได้ผลเสียที่เกิดกับทุกคนร่วมกันจริง ๆ ให้ได้ด้วย


แต่การที่จะนำเสนอไอเดียแบบนี้ด้วยการพูดและบอกเหมือนกับที่อาตมากําลังบอกให้โยมฟังอยู่ตอนนี้ มันก็อาจจะได้แค่ฟังแล้วคิดตาม แต่ถ้าเกิดเราสร้างสถานการณ์นั้นจริง ๆ แล้วเราลองอยู่ในสถานการณ์ว่าแล้วเราจะเลือกยังไง แล้วเราจะตัดสินใจกันยังไง มันอาจจะต้องเข้ามาสู่ประสบการณ์จริงแล้วล่ะ ตรงนี้แหละคือประโยชน์ของตัว simulation หรือกระบวนการเกมที่เอาสถานการณ์มาทําให้ผู้เล่นหรือผู้เรียนได้เข้าไปประสบกับสถานการณ์นั้นจริง ๆ แล้วเราค่อยเอาตรงนั้น แหละมาถอดแล้วคุยเพื่อจะเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง”


เกมชีวิต - เกมธรรมะ 

ทีมชีวามิตรฟังคำอธิบายถึงเกมภาวนาและได้เห็นหน้าตารูปแบบเกมต่างๆ ถึงกับเอ่ยคำพูดออกมาว่า ไม่น่าเชื่อว่าพอพระอาจารย์ถอดความคิดจากเกมให้ฟังแล้วทําให้รู้สึกว่าธรรมะอยู่ใกล้ ๆ เรา อยู่ในชีวิตเราอย่างแนบแน่น พระครูเมธังกรจึงตอบขึ้นว่า 


มันคือชีวิตจริงของเรา เพียงแต่เราหยิบแง่มุมในชีวิตมานําเสนอ แทนที่จะนําเสนอผ่านข้อความเราก็นําเสนอผ่านประสบการณ์ (ในรูปแบบของเกม) 


ถ้าอย่างนั้นเราสามารถมองชีวิตเป็นเกมได้ไหม? เราถามต่อ ท่านบิ๊กเมตตาตอบว่า  


เราสามารถมองชีวิตเป็นเกมได้” 


ถ้าอย่างนั้นเราก็เล่นกับชีวิตได้สิ? คำถามจากเรามาอย่างต่อเนื่อง 


“การที่เราเรียนรู้ผ่านเกมมันคือ simulation เราย่อช่วงชีวิตทั้งหมดไว้ สมมุติว่าเรา maximum ที่อายุ 80 ย่อลงมาเรียนรู้กระบวนการ ที่เราบอกว่าชีวิตมันเป็นเกมมันคือกระบวนการในการตัดสินใจ ท่าทีต่างๆ รวมไปถึงความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของชีวิตที่ทําให้เราดําเนินไปในแต่ละวัน แต่ละวัน”


ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าเราสามารถเรียนรู้การอยู่ดีได้ผ่านการเล่นเกมนี้โดยตรงได้เลยใช่ไหม? คำถามยังมีอยู่ 


“ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่ง และการที่จะมีชีวิตดี คำว่าดีนี่กว้างมากเลยนะโยม เพราะงั้นมันจะต้องค่อยๆ มานิยามคําว่าดีในของแต่ละคนว่าสําหรับตัวเราคําว่าดีที่พอดีกับเรามันเป็นประมาณไหน” ท่านบิ๊กตอบคำถามด้วยการตั้งคำถามอีกทอดหนึ่ง 


แล้วถ้าเราเล่นเกมเราคงคาดหวังการแพ้ชนะใช่ไหม คำถามเกิดขึ้นเมื่อเราคิดถึงการเล่นเกมต่าง ๆ และอยากเอาเป็นผู้ชนะในเกม ซึ่งพระครูเมธังกรตอบคำถามนี้อย่างชัดแจ้ง


“…ก็มีหลายแบบ บางเกมมันก็ต้องแพ้ชนะไปด้วยกัน บางเกมเมื่อคนหนึ่งชนะและคนหนึ่งแพ้ เราก็จะเรียนรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดการแพ้ชนะนั้น หรือแม้แต่คําว่าแพ้ชนะเองในแต่ละเกมก็อาจจะต้องถูกตีความที่ต่างกันไป เช่นถ้าเราบอกว่าเราจะปลูกต้นมะม่วงให้เติบโตดีที่สุด ถามว่ามันมีแพ้มีชนะไหม แล้วถ้าเกิดว่ามีคนปลูกมะม่วง 2 คน คนหนึ่งปลูกได้เยอะอีกคนหนึ่งปลูกได้น้อย อย่างนี้เราจะเรียกว่าแพ้ชนะหรือเปล่า เพราะฉะนั้นคําว่าแพ้ชนะเองก็อีก เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะต้องกลับมาถอดบทเรียนแล้วลองเรียนรู้กับมันว่าเราแต่ละคนเข้าใจคํานี้อย่างไร แล้วเกมก็จะสื่อสะท้อนบางแง่มุมให้เราเห็น แต่แน่นอนล่ะเกมไม่ใช่ชีวิตจริงเนอะ มันอาจจะนําเสนอทุกแง่มุมของความจริงไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันก็อาจช่วยหยิบยกบางแง่มุมขึ้นมาแล้วชวนกันคุยต่อ”


พระครูเมธังกรยังเมตตาขยายความคำว่าตัณหากับฉันทะให้เข้าใจด้วยการยกตัวอย่างผ่านเกมว่า


จริง ๆ การที่เรา “อยาก” ในมุมมองของชาวพุทธไทยมักจะมองว่าความอยากเป็นเรื่องไม่ดีไปซะทั้งหมดใช่มั้ย แต่ว่าหลวงพ่อสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ท่านให้หลักที่ทําให้เรากลับมาลองศึกษาหรือสังเกตตัวเองให้ชัดว่าจริงๆ แล้ว “อยาก” ในพุทธศาสนามีทั้งอยากที่ดีและอยากที่ไม่ดี ถ้าเราอยากเพื่อสนองตัวตนอันนี้นํามาซึ่งปัญหาทั้งต่อตัวเราและต่อผู้คนที่อยู่ร่วมกัน เมื่อเราก็อยากเรียนได้ A เพื่อนก็อยากเรียนได้ A คนสองคนที่อยากเหมือนกันนี่แหละ แต่กลับต่อสู้กัน ฉันก็อยากทํางานเพื่อให้ได้เลื่อนตําแหน่ง เธอก็อยากทํางานเพื่อให้ได้เลื่อนตําแหน่ง แต่ถ้าเธอได้ฉันจะไม่ได้ ถ้าฉันได้เธอต้องไม่ได้ ไอ้ความขัดแย้งที่เกิดจากความต้องการที่สนองตัวเองนี่แหละคือสิ่งที่เป็นปัญหาที่ปรากฏอยู่ แล้วลองหยิบสถานการณ์นี้ลองมาใส่ใจสังเกตดูชัดๆ เราจะเห็นเงื่อนปมที่อยู่ข้างหลังของมัน แต่ถ้าเมื่อไหร่เราสามารถเปลี่ยนความอยากเป็นความอยากทําให้มันดีเล่า? 


อาตมาเล่นเกม ๆ หนึ่ง แล้วลองนั่งคุยกับนักศึกษาเป็นนักศึกษาแพทย์ ถามเขาว่าที่หนูนั่งเรียนอยู่ทุกวันนี้เหนื่อยไหมหนักไหม แล้วหนูเรียนไปเพื่ออะไรเขาก็ตอบอย่างนี้แหละว่าเรียนอยากจะได้ A ทําไมอยากได้เอล่ะ ก็ถ้าได้เอได้เกรดดีโอกาสจบไปได้งานดี ๆ แล้วถ้าได้งานดีก็จะได้ดูแลตัวเองดูแลครอบครัว ถามว่านี่คือเป้าหมายที่ดีมั้ย ดีมากเลยนะเด็กคนนี้ คําถามก็คือว่าแล้วเพื่อนอีก 4 - 5 คนที่นั่งอยู่ในกลุ่มเล่นเกมด้วยกันเนี่ยมีเป้าหมายเหมือนกันไหม เขาก็บอกว่ามีเป้าหมายเหมือนกันอย่างนี้แหละ ถามว่าแล้วถ้ามี short note เด็ด ๆ จากรุ่นพี่ที่อ่านแล้วน่าจะได้เอแน่ ๆ เราจะแบ่งให้เพื่อนอ่านไหม นักศึกษาก็ดีนะตอบพระตรง ๆ บอกไม่ให้หรอกพระอาจารย์เพราะถ้าให้เดี๋ยวเพื่อนได้เอเราไม่ได้นะ แต่ถ้าเกิดว่าเราชวนกันคุยต่อไปอีกหน่อยว่าที่หนูอยากมาเรียนเพราะอยากทํางานหาเงินดูแลครอบครัวเนี่ยมันก็มีอาชีพตั้งเยอะแยะในโลกใบนี้ ทําไมหนูเลือกเรียนมาเป็นหมอล่ะ นักศึกษานั่งคิดสักพักหนึ่งแล้วก็บอกว่าเป็นหมอนี่มันดีนะอาจารย์ เราจะได้ช่วยผู้คนด้วย เออ เราเห็นว่าการแพทย์ในสังคมมันยังไม่ดี เราเห็นว่าญาติผู้ใหญ่เราบางทีก็ยังได้รับการรักษาที่ไม่ดีเท่าไร เขาอยากจะทําให้มันดีมากกว่านี้ อยากให้สังคมนี้ให้โลกใบนี้มีวัคซีนที่จะป้องกันโรคผู้คน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ถ้าเราเห็นเป้าหมายนี้ในใจของเราของนักศึกษาแต่ละคนชัดขึ้นจนชัดมากพอแล้ว ลองถามใหม่ว่าถ้าสมมุติเรามีชอร์ตโน้ตมาอันหนึ่งซึ่งมันจะทําให้เราหรือใครก็ตามที่อ่านแล้วจะเป็นหมอที่เก่งขึ้นและมีโอกาสช่วยคนได้มากขึ้นเราจะแบ่งให้เพื่อนอ่านมั้ย พอถึงตอนนี้นักศึกษากลับบอกว่า เออ ถ้างั้นก็อ่านมันให้หมดสิ แล้วทุกคนมันก็ขยับกราฟระฆังคว่ำไปข้างหน้าอีกหนึ่งสเต็ป ไอ้คนได้เอมันก็ได้เอเท่าเดิมนั่นแหละ แต่ทุกคนเก่งขึ้นคนละหนึ่งสเต็ปไม่ดีเหรอ 


งั้นประเด็นตรงนี้ก็แปลว่าคําว่าแพ้ชนะเนี่ย เมื่อไหร่ถ้าเรามองประโยชน์ที่ตัวไม่ว่าจะสร้างเขื่อนดีมั้ย หรือว่าจะแบ่งชอร์ตโน้ตให้เพื่อนอ่านดีมั้ย ถ้าเมื่อไหร่เป้าหมายมันมาที่ตัวมันก็ขัดแย้งมันก็จะมีผู้แพ้แล้วชนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเปลี่ยนเป้าหมายจากปัญหาที่สนองตัวเองเป็น “ฉันทะ” ที่อยากทําให้มันดี อยากทําให้ชีวิตเราดี อยากทําให้ครอบครัวเราดี อยากทําให้ร่างกายเราแข็งแรง อยากทําให้สังคมก้าวหน้า อยากทําให้ระบบสาธารณสุขของประเทศดีขึ้นตรงนี้แหละเรียกว่า “ฉันทะ” ที่มาสมานเสมอกันเรียกว่าสมานฉันท์ก็คือเปลี่ยน “ตัณหา” ให้เป็น “ฉันทะ” แล้วฉันทะที่ประสานสอดคล้องร่วมกันก็จะร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ดีงามแล้วคนในสังคมก็มีความสุขด้วย 



พวกเราขอให้พระครูและพระอาจารย์ยกตัวอย่างผู้เคยเล่นเกมแล้วได้รับธรรมะจากการถอดบทเรียนท้ายเกม และสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตได้ ท่านบิ๊กหรือพระอาจารย์ปฏิพลยกตัวอย่างให้ฟังว่า 


“ยกตัวอย่างเกมมะม่วง ผู้เล่นอยู่ในช่วงที่ไม่ชัดเจนกับเป้าหมายชีวิตของตัวเอง บางทีการที่ได้เล่นแล้วได้คุยได้ค่อย ๆ กลับมาเห็นว่าเป้าหมายในชีวิตว่ามีหน้าตาเป็นยังไง คืออะไร และการที่เขาได้ค่อย ๆ ลองทําในแต่ละขณะของชีวิตมันตอบโจทย์เป้าหมายนั้นมั้ยซึ่งพอผู้เล่นค่อย ๆ กลับมาใคร่ครวญ ค่อย ๆ กลับมาเห็นตรงนี้ มันทําให้เขารู้สึกว่า เออ ชีวิตเขาชัดเจนมากขึ้นนะ เขารู้ว่าเขาจะทําอะไรต่อไปดีที่จะสามารถตอบโจทย์ ตอบเป้าหมายชีวิตของเขาต่อไปได้ ถ้าพูดลงในรายละเอียดคือเขารู้สึกหมดไฟในงานที่ทําอยู่ เขามีความสุขกับงานที่ทําอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งงานที่ทําอยู่มันให้เงินเขาแต่อีกงานที่เขาทําแล้วมันให้ความสุข พอมันเป็นอะไรที่เขาเองก็ตัดสินใจในชีวิตไม่ได้ว่าเขาจะตั้งเป้าหมายอะไรต่อดี คือเป็นช่วงที่คิดไม่ออกเพราะงั้นพอเล่น ๆ ไปเนี่ย มันชวนให้เขาค่อย ๆ กลับมาตระหนักว่า เอ้ย! เขาตั้งเป้าหมายต่องานด้วยท่าทีแบบไหน ตัณหาหรือฉันทะ อะไรกันที่ทําให้เขาไม่มีความสุขกับเป้าหมายนี้ อะไรทําให้เขามีความสุขกับเป้าหมายนี้


และในเกมมะม่วงผู้เล่นในเกมนี้ไม่มีแพ้ไม่มีชนะ ในการปรับสูตรปุ๋ยเพื่อจะปลูกต้นมะม่วงต้นหนึ่งในแต่ละรอบแต่ละปีเนี่ยมันไม่มีถูกไม่มีผิด แต่เกมมันกําลังจะบอกว่าปุ๋ยแต่ละสูตรที่คุณปรุงมาในแต่ละรอบ มันส่งผลเป็นดอกเป็นผลเท่าไหร่ ทุก ๆ สูตรคือการเรียนรู้ในทุก ๆ รอบของชีวิตเหมือนกัน 


จากการฟังเรื่องราวที่มาและแก่นธรรมะในแต่ละเกมสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างที่สุด คำถามต่อมาของพวกเราคือธรรมะสามารถตอบคําถามทุกอย่างในชีวิตเราได้หมดเลยใช่ไหม ท่านบิ๊กตอบด้วยรอยยิ้มอีกครั้งทันทีว่า  


ถูกต้อง ธรรมะสามารถตอบคําถามเราในชีวิตได้ทั้งหมดเลย และคําว่าธรรมะที่ว่านี้คงไม่ใช่การที่เข้าวัดปฏิบัติธรรม แต่คําว่าธรรมะคือธรรมชาติ ใช้ชีวิตอย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติ


ทุก ๆ เกม ทุก ๆ บทเรียน พระได้สอดแทรกหลักธรรมยิบ ๆ ย่อย ๆ อยู่ในอยู่ในเกมทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าแง่มุมใดก็ตามที่ทําให้ผู้เล่นเข้าใจชีวิตมากขึ้นอันนั้นแหละเราเรียกว่าธรรมะ 


หนึ่งในทีมชีวามิตรเอ่ยขึ้นมาลอย ๆ ว่าถ้าเรารู้ตอนอายุ 50 นี่เราต้องเกิดอีกกี่ชาติจึงจะเข้าใจธรรมะอย่างถ่องแท้ ท่านบิ๊กบอกว่า 


“ไม่เสมอไปนะ รู้จักช้ายังดีกว่าไม่รู้จักเลย!”



ความสุขของพระครู  


เป็นความสงสัยของทีมชีวามิตรว่า พระมีความสุขได้ไหม และความสุขจากการทําเกมสามารถมีได้ไหม พระครูและพระอาจารย์ตอบด้วยความเมตตา โดยท่านบิ๊กได้ให้คำตอบก่อนว่า


“โอ้! มีได้ จะว่าความสุขจากการทําเกมไหม มันคือความสุขจากการที่พระซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นครูคนหนึ่งได้เห็นลูกศิษย์มีความรู้ มีความเข้าใจ มีการเติบโตในชีวิต มีความสุขได้จากการเรียนรู้อันนี้มันคือความสุขที่คนสอนเองก็พลอยมีไปด้วย” 


สำหรับความสุขของพระครูเมธังกรนั้นท่านตอบว่า


“ความสุขของตัวเราในฐานะผู้ที่เป็นผู้จัดการศึกษา อาตมาว่ามันก็สุขได้หลายอย่างดังที่เราคุยกันนั่นแหละ เราจะสุขแบบหยาบ ๆ คือสุขจากการที่เราเห็นเกมมันสำเร็จ เห็นผู้คนมาชื่นชมให้คุณค่ากับมันแล้วเราก็รู้สึก โอ้ นี่เราเก่งนะเนี่ย โอ นี่มีคนมาชื่นชมสิ่งที่เราทํานะ มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง หรืออาจจะเป็นความสุขจากการที่เราได้เรียนรู้ในตัวเราเองว่า เออ เราสามารถคิดหรือสามารถถ่ายทอดแบบนี้ได้ด้วยนะ บางเกมเล่นแล้วไม่เวิร์คเราก็ได้เรียนรู้ก็มีความสุขในการที่ได้ทดลองได้เรียนรู้ก็มี หรืออย่างที่ท่านบิ๊กเล่าเมื่อกี้ว่ามันมีความสุขก็มันไปเกิดผลลัพธ์เป็นความสําเร็จต่อใครสักคนหนึ่ง แล้วนักเรียนหรือผู้เล่นเกมเกิดความเข้าใจเกิดซาโตริ แล้วก็บอกว่า เออ มันมีมุมนี้ด้วยเหรอ ไม่เคยคิดเลยไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้เลยก็มี ซึ่งไอ้ความสุข 3 อย่างนี้ หลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านก็พูดไว้เหมือนกันในเรื่องของการทํางานทั้งพระทั้งโยมนั่นแหละ ว่าเราจะเลือกมีความสุขจากงานในรูปแบบไหน แบบที่หนึ่งก็คือความสุขจากรายได้ ชื่อเสียง การยกย่อง ชื่นชม แบบที่ 2 คือความสุขจากผลของงานที่มันเกิดผลเป็นความสําเร็จทําให้ใครสักคนหรือหลายคนในสังคมได้ประโยชน์จากมัน และแบบที่ 3 คือความสุขที่เกิดภายในตัวเราที่เราได้เรียนรู้เติบโตพัฒนา


แบบแรกนี่มันจะได้ความสุขนี้ก็ต่อเมื่อมีคนมาชมเรา มีคนมาให้รางวัลหรือให้ค่าตอบแทนกับเรา ซึ่งไม่ได้ผิดนะมันก็สุจริตเพียงแต่ว่ามันจะได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขว่าคนภายนอกให้คุณค่ากับมัน ส่วนสุขอย่างที่ 2 ไม่ต้องรอให้ใครให้คุณค่า แต่ตัวงานถ้าดีแล้วมันส่งผลเป็นประโยชน์ทําให้นักเรียนได้ประโยชน์ ทําให้คุณครูที่สอนด้วยกันมีความสุขในการสอนมากขึ้น มันก็เกิดความอิ่มเอมพอใจจากผลของงานก็เป็นความสุขโดยที่ไม่ต้องรอให้ชม ไม่ต้องมีใครมาให้รางวัล มันก็สุขง่ายกว่าแบบที่หนึ่ง 


ส่วนอย่างที่ 3 นี่ต่อให้มันยังไม่สําเร็จ ต่อให้ยังอยู่ระหว่างการคิดค้น แต่เรามีความสุขในการที่ได้พยายามคิดพยายามหาทางทําในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ผิดพลาดล้มเหลวก็เรียนรู้แล้วก็สนุกกับมันก็กลายเป็นความสุขแบบที่ 3 ถ้าเราฝึกความสุขแบบที่ 3 ได้ในเวลาทํางานแม้มันยังไม่สําเร็จ เราก็ยังมีแรงที่จะพัฒนาต่อไป”


ปีใหม่กับเป้าหมายชีวิตของพระครู


เพราะช่วงการสัมภาษณ์พระครูเพิ่งผ่านวันขึ้นปีใหม่ได้ไม่กี่วัน เราจึงตั้งคำถามต่อเป้าหมายของพระครูทั้งสองท่าน ซึ่งพระครูเมธังกรกล่าวถึงเป้าหมายในปีนี้ว่า 


“โจทย์ในปีนี้ก็สําหรับตัวเองก็คิดว่ากระบวนการหรือสิ่งที่เราคิดมาเราเชื่อว่ามันยังไม่ดีที่สุด แล้วมันก็เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากในปีที่ผ่านมา บางเกมอาจจะทําได้ยากหรือกระบวนการที่เราดีไซน์มันจําเป็นจะต้องมีกระบวนกรที่จะมาช่วย เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าสิ่งที่เราน่าจะต้องพัฒนาต่อก็คือทํายังไงให้มีกระบวนกรที่จะมีความรู้ความสามารถมีฉันทะ แล้วก็มาช่วยกันในการที่จะพาให้ผู้ที่สนใจอยากจะเล่นได้เข้ามามีประสบการณ์อย่างนี้ เพราะว่าถ้ารอให้พระมาเป็นกระบวนกรหรือกระบวนการที่มีอยู่จํากัด จํานวนผู้ที่จะมีโอกาสได้เล่นก็คงจะจํากัดอยู่ด้วย” 


ส่วนท่านบิ๊กเล่าถึงเป้าหมาของท่านในปีนี้ว่า  


“เป้าหมายสําหรับปีนี้ก็ตั้งใจว่า อันดับแรกจะกลับมาพัฒนาภายใน กลับมาใคร่ครวญภายในให้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น เข้าใจถ่องแท้มากขึ้น อาตมาว่าการเป็นครูของอาตมาจะพัฒนาขึ้นได้ ส่วนหนึ่งต้องเริ่มมาจากเราเติบโตภายในเองก่อน หลังจากนั้นถึงจะค่อยๆ พัฒนาเครื่องมือหรือ Workshop ใดๆ ก็แล้วแต่ในการที่จะพาผู้คนจากไม่รู้เป็นรู้ จากมืดไปสว่าง เหมือนเป็นผู้นําทางได้ดียิ่งขึ้นไปในปีนี้” 



เพื่อนชีวิตพระครู


ไม่เพียงแต่ฆราวาสที่จำเป็นต้องมีหลักในการดำเนินชีวิต มีเพื่อนชีวิตที่นำพาให้เราไม่หลงทิศหลงทาง และก้าวหน้าไปในทางที่เจริญยิ่งขึ้น พระครูเมธังกรและพระอาจารย์ปฏิพลได้เมตตาเล่าถึง “เพื่อนชีวิต” ของท่านทั้งสอง โดยเริ่มต้นจากพระครูเมธังกรท่านได้กล่าวว่า


“ถอดจากเกมเมื่อกี้ที่เล่าถึง อาตมาคิดว่าการตัดสินใจในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าเราจะตัดสินใจว่าเราจะกินอะไร ตัดสินใจว่าจะแบ่งชอร์ตโน้ตให้เพื่อนหรือเปล่า ตัดสินใจว่าเราจะไปลงคะแนนเสียงสร้างเขื่อนหรือไม่สร้างเขื่อน สิ่งสําคัญที่จะเป็นเพื่อนในการตัดสินใจก็คือ ธรรมะ 


ปัญหาคือเราจะมีธรรมะเป็นเพื่อนได้จริงหรือเปล่า การมีธรรมะเป็นเพื่อนแปลว่าเมื่อเราจะทําอะไร เราก็ปรึกษาเพื่อนคนนี้ว่าอันนี้ทําไปแล้วมันจะดีหรือไม่ดีนะ ทําไปแล้วมันจะส่งผลยังไงบ้างนะทั้งต่อตัวเรา ต่อผู้คนในสังคมและต่อโลกใบนี้


ธรรมะคือหลักการคือความจริงตามธรรมชาติ ซึ่งเราต้องลงทุนและลงแรงในการเรียนรู้นะ เราถึงจะมีเพื่อนคนนี้ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้เราจะตัดสินด้วยความรู้สึก อะไรที่ทําให้ฉันสบาย / สุข / อร่อย เราก็จะเลือกแบบนั้น แต่ถ้าเราลงทุนแล้วสร้างกัลยาณมิตรคนนี้คือธรรมะขึ้นมาได้ เราก็จะมีธรรมะเป็นเพื่อนในการตัดสินใจ


แต่ก็อย่าเพิ่งประมาทไป เพราะบางทีต่อให้เรามีเพื่อนดีแต่เราไม่เชื่อเพื่อนก็บ่อยไป แม้เพื่อน (ธรรมะ หลักการ ความถูกต้อง) จะบอกว่าควรทําแต่เราไม่ทําก็มีนะ เพราะฉะนั้นมีเพื่อนดีอย่างเดียวไม่พอเราก็ต้องฝึกพัฒนาความเข้มแข็งในใจที่จะทําตามเพื่อนด้วย แล้วหลักการที่เราจะเอาธรรมะเอาเพื่อนคนนี้เป็นใหญ่ในชีวิตก็คือหลักธรรมสําคัญที่หลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เน้นบ่อย ๆ ก็คือเรื่องธรรมาธิปไตย คือทําอะไรก็เอาธรรมะเป็นใหญ่เอาเป็นเพื่อนเป็นหลักที่ยึดในการตัดสินใจ” 


ขณะที่ท่านบิ๊กหรือพระอาจารย์ปฏิพลได้ขยายความคำว่า “เพื่อนชีวิต” ของท่านว่า 


“อาตมามีเพื่อนในชีวิตอยู่ 2 คน คนแรกคือ ลมหายใจ เมื่อไรก็ตามที่อาตมารู้สึกสับสน รู้สึกเหนื่อย รู้สึกวุ่นวาย เพื่อนที่ชื่อว่าลมหายใจก็จะเป็นผู้ที่ประคับประคองให้อาตมากลับมาสงบและก็มีความสุขอีกครั้ง 


เพื่อนอีกคนหนึ่งที่อาตมาเลือกมา เรียกเขาว่า ปัญญา ละกันเนอะ เขามาเวลาเจอเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือร้าย หรือว่าเหตุการณ์ใด ๆ ก็แล้วแต่ เราอาจจะใช้เวลาในการกลับมาใคร่ครวญตั้งคําถามกับตัวเองว่าเรารู้สึกต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา เพื่อที่เราจะได้เข้าใจชีวิตของมนุษย์คือตัวเองเนี่ยแหละได้ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลดีที่เมื่อตัวอาตมาเข้าใจตัวเองมากขึ้นก็ทําให้สายตาของอาตมาเข้าใจผู้อื่นไปด้วยเหมือนกัน” 



ชมรายการ “เพื่อนชีวิต” ตอนที่ 6 “เกม พระ ทำ” “พระครูเมธังกร (ปณต คุณวฑฺโฒ)” และ “พระอาจารย์ปฏิพล ภูริเมโธ”





ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads