Knowledge cover image
13 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. กตัญญูหมื่นลี้

กตัญญูหมื่นลี้

การยื้อชีวิตที่เพิ่มความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย


เรื่องโดย ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส

ภาพของผู้สูงวัยที่นอนอยู่บนเตียง ใส่สายยางให้อาหารทางจมูก ใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก เจาะคอ มีสายระโยงระยาง ถูกจับมัดยึดไว้กับเตียง


หลายครั้งที่ภาพเหล่านั้นสะท้อนความกตัญญูหมื่นลี้ เหตุเกิดจากความไม่รู้ และไม่ยอมรับของลูกหลานและญาติพี่น้องที่พยายามอย่างสุดความสามารถในการยื้อชีวิตผู้ป่วย


หลายคนไม่รู้ว่าสภาพดังกล่าว นอกจากจะนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจแก่ผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นความพยายามที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ และนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลให้กับครอบครัว


ผมเคยสอบถามแพทย์หลายท่านที่โรงพยาบาล แล้วพบว่า ผู้ป่วยที่นอนใส่เครื่องช่วยหายใจในไอซียูทุกวันนี้ หลายกรณีเป็นการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ คำถามมีต่อไปว่าถ้าอย่างนั้นคุณหมอทำไปทำไม ส่วนใหญ่จะตอบว่าทำเพราะญาติอยากให้ทำ แต่ญาติไม่รู้ว่าใส่ไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คนไข้ต้องทุกข์ทรมาน และมันไม่เกิดประโยชน์อะไร โดยเฉพาะกับญาติที่ไม่ค่อยได้ดูแลพ่อแม่ หรือผู้ป่วย พอมาถึงก็จะโวยวายเสียงดัง 


“คุณหมอต้องช่วยนะ ต้องทำให้เต็มที่นะ แพงเท่าไหร่ไม่ว่า ขอแค่ให้คนไข้ยังมีลมหายใจ" 


ญาติกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะแสดงอารมณ์ บางคนถึงขั้นข่มขู่จะฟ้องร้อง หากหมอไม่ช่วยตามที่เขาต้องการ หมอพยาบาลส่วนหนึ่งมักเรียกญาติกลุ่มนี้ว่า “พวกกตัญญูหมื่นลี้” หรือ “กลุ่มอาการกตัญญูเฉียบพลัน”


อาการกตัญญูหมื่นลี้มักจะเกิดขึ้นกับลูกหลานที่มีความเชื่อมั่น ประสบความสำเร็จในชีวิต หาเงินหาทองได้มาก ซึ่งทำให้ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาไม่ค่อยมีเวลา ไม่ค่อยได้ดูแลเอาใส่ใจพ่อแม่ ทั้งในเวลาปกติและยามเจ็บป่วย เมื่ออาการเจ็บป่วยของพ่อแม่มาถึงช่วงระยะสุดท้ายที่มีภาวะวิกฤต ลูกหลานกลุ่มจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกผิด ทำใจยอมรับไม่ได้ มักทุ่มเททั้งเงินและความพยายามทุกอย่างในรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยรอดชีวิต จนลืมคิดไปว่า ในกระบวนการรักษานั้น ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานเพียงใด และสุดท้ายผู้ป่วยก็จากไปอยู่ดี


ลูกหลานกตัญญูหมื่นลี้ มักทำให้แพทย์พยาบาลอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ผู้ป่วยเองก็พูดอะไรไม่ได้เพราะอยู่ในภาวะวิกฤตในระยะท้าย ส่วนญาติหรือลูกหลานที่ดูแลใกล้ชิดก็มักจะไม่กล้าทักท้วงหรือแสดงความคิดเห็น แม้จะรู้ว่าเป็นกระบวนการรักษาที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ เพราะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่ได้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย หรือพูดไปก็ขัดแย้งกันเปล่า ๆ 


ผู้ป่วยจึงต้องทนทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิตจนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด ประเด็นสำคัญคือ คนในสังคมจะต้องเข้าใจว่า ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายเขาต้องการอะไร เขาปรารถนาที่จะใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างไร อะไรคืออุปสรรคที่ลูกหลานญาติพี่น้องควรต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้การตายอย่างสงบตามธรรมชาติ หรือการตายดีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้กับทุกชีวิต 


เจตนาดีที่มีต่อผู้ป่วยแต่จะต้องรับรู้ในความเป็นจริงด้วย ต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย มิใช่สิ่งที่ตัวเราคิดว่าดีที่สุด การตั้งสติและใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง จะช่วยให้หลุดพ้นจากความกลัว และรู้ว่าควรจะก้าวต่อไปอย่างไร เพื่อดูแลคนที่เรารักให้ดีที่สุด 


อย่ากตัญญูหมื่นลี้ โดยไม่มีประโยชน์


ที่มาจากเพจ Peaceful death

ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส  avatar image
เรื่องโดยศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสุขภาพที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ป่วยในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการสาธารณสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือ Living will และเป็นผู้ก่อตั้ง "ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์" ต้นแบบแห่งหนึ่งของศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือ Hospice ในประเทศไทย ปัจจุบัน อาจารย์เป็นที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นวิทยากรผู้เผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลแบบประคับประคอง การอยู่ดีและตายดี ทั้งในมิติกฎหมาย มิติจิตใจ และมิติสังคมอยู่เสมอ

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads