Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

ข้อคิดจากศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

มนุษย์ล้วนต้องการพบแต่สิ่งดี แต่จะมีสักกี่คนที่เคยวางแผนการตายของตัวเอง การตายแม้เป็นสิ่งที่สังคมมองว่าน่ากลัวจึงหลีกเลี่ยงที่คิดถึง แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธว่า “ความตาย” เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราในวันหนึ่งอย่างแน่นอน


ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์ และที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพ และจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อคิดในงานอบรม ‘อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’ ไว้ว่า  


“ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ มหาเศรษฐี หรือคนทั่วไป คงเคยวางแผนการทำงาน วางแผนการเงิน วางแผนชีวิตครอบครัวให้ดีได้ แต่เคยวางแผนการตายดีแล้วหรือยัง เราอย่ามีชีวิตอยู่ด้วยความประมาท การวางแผนชีวิตถือว่าลดความประมาทลงไปได้”


การตายดีใน ความหมายของศาสตราจารย์แสวง คือการเตรียมตัวในช่วงสุดท้ายของชีวิต ลึก ๆ แล้วทุกคนล้วนมีความต้องการที่จะมีชีวิตช่วงท้ายที่ทรมานน้อยที่สุด ไม่เป็นภาระแก่คนรอบข้าง และจากไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งนับว่าเป็นการตายดีของหลายคน แต่บางคนมีสิ่งที่ต้องการมากกว่านั้น เช่น ไม่ต้องการให้ปั๊มหัวใจ ไม่ต้องการสอดท่อช่วยหายใจ หรือการรักษาบางอย่างที่ทำไปเพียงเพื่อจะยื้อชีวิตเราไว้เท่านั้น แต่เราเคยบอกความประสงค์เหล่านั้นให้แก่คนรอบข้างแล้วหรือยัง


การทำ Living Will หรือ หนังสือแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการสาธารณสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิต จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ปัจจุบันความคุ้มครองทางกฎหมายตาม พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ระบุไว้ว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้


นอกการจากการเขียน Living Will จะช่วยแสดงความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยแก่คนรอบข้างแล้ว ยังช่วยให้ แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาแบบประคับประคองได้อย่างสบายใจ


ในมุมมองทางการแพทย์ การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยและครอบครัวได้วางแผนเลือกวิธีการรักษาร่วมกัน เช่น ต้องการอยู่ที่บ้านหรือโรงพยาบาล เมื่อหัวใจหยุดเต้น อยากให้แพทย์กระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นหรือไม่ ต้องการเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ เป็นต้น ผู้ป่วยสามารถแสดงต้องการเหล่านี้ไว้ได้ตั้งแต่ตอนที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ได้ใน 2 รูปแบบ

1 จัดทำเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของตนเองเกี่ยวกับการเลือกวิธีการรักษาเมื่อเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย

2 มอบหมายให้บุคคลใกล้ชิดมีอำนาจตัดสินใจเรื่องการดูแลทางการแพทย์ในวาระสุดท้ายของตน


ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยระยะท้ายมักมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่ญาติอาจตกใจและรับมือไม่ถูก เช่น หายใจติดขัด หอบ อาการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ อ่อนเพลีย หรือ ระบบการย่อยอาหารที่ผิดปกติไป ญาติจึงต้องเตรียมความพร้อมและฝึกรับสภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยด้วย


“ตามดู รู้ทัน วางจิตเป็นอุเบกขา หากช่วงวาระสุดท้ายจิตยึดร่าง มันจะเกิดทุกข์” คือข้อคิดด้านการช่วยเหลือในแง่มุมศาสนาที่ศาสตราจารย์แสวงเตือนให้รู้ว่า หากเรามีการฝึกจิดที่ดี แม้ร่างกายเป็นทุกข์ แต่ใจสามารถเป็นสุขได้ ความตึงเครียดของผู้ป่วยและญาติก็จะลดลง และมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดีขึ้น


นั่นคืออีกความหมายหนึ่งของการ “ตายดี”

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรข้อมูลจากงานอบรม “อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข” จัดโดย ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วันที่ 27 มกราคม 2561 ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads