Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

ไม่ช่วยให้ดีขึ้น แต่ยังอาจเพิ่มความทุกข์ทรมาน


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

ใช่ว่าการไปโรงพยาบาล หรือการรักษาจะให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยทุกครั้งไป การดูแลหลายอย่างนอกจากจะไม่ช่วยให้ผู้ป่วยหาย หรือดีขึ้นแล้ว ยังก่อความทุกข์ให้ผู้ป่วย หรือครอบครัว ต้องทุกข์ทรมานมากขึ้นด้วย


ผศ.นพ.กิตติพล นาควิโรจน์ รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อคิดบางประการที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตัดสินใจดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในงานอบรม ”อยู่อย่างมีความหมายจากไปอย่างมีความสุข” เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2561 ณ ร้านสะพานโยง จ.นครปฐม


การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้หมายถึงการรักษาที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หรือการที่แพทย์สงวนเตียงผู้ป่วยให้คนอื่น แต่การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางการแพทย์มีความหมาย 2 นัยยะ คือ 

1 การรักษาที่ไม่ตรงกับภาวะโรค เช่น ให้ยาผิดโรค 

2 การรักษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยหรือครอบครัว


การรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มีโอกาสเกิดขึ้นมากในผู้ป่วยระยะท้าย เพราะการรักษาในช่วงนี้หลายประการไม่ช่วยให้ผู้ป่วยสุขสบาย หายจากโรค หรือแม้แต่มีอายุยืนยาวขึ้น เช่น การให้บังคับให้อาหารทางสายยางให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย การปั๊มหัวใจในวันท้าย ๆ ของผู้ป่วย การฟอกไตในผู้ป่วยที่อวัยวะส่วนอื่นล้มเหลวไปหมดแล้ว เป็นต้น ข้อพิจารณาอีกประการหนึ่งที่อาจช่วยตัดสินใจว่า การรักษาในครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ คือ คำถามที่ว่า ”การรักษาด้วยวิธีนี้มีอัตราช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตกี่เปอร์เซ็น” หากแพทย์ตอบว่าการรักษาด้วยวิธีนี้มีอัตรารอดชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 1 เราอาจตั้งข้อสังเกตว่า นั่นคือการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์


ส่วนการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในมิติหลัง คือ การรักษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วย หรือครอบครัว เช่น หากผู้ป่วย และครอบครัวไม่ต้องการปั๊มหัวใจ แต่แพทย์กลับยื้อชีวิต ยืดการตายให้ยาวนานขึ้น การปั๊มหัวใจในกรณีนี้ นับว่าเป็นการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เช่นกัน


จุดที่ยากในการป้องกันการรักษาที่ไม่ตรงกับเจตนาคือ ผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรสุขภาพ มักมีกระบวนการการสื่อสารระหว่างกันที่ยังไม่ราบรื่น หรือเข้าใจตรงกันมากพอ เพราะมีอุปสรรคด้านการสื่อสาร เช่น ญาติมักกังวลว่า การบอกความจริงของแพทย์จะทำให้ผู้ป่วยเสียกำลังใจ การพูดคุยวางแผนเรื่องการเตรียมตัวตายจะทำให้เสียบรรยากาศ หรือเป็นการแช่งผู้ป่วย ในขณะที่แพทย์เองก็ไม่กล้าที่จะเป็นฝ่ายสื่อสารเรื่องนี้ก่อน เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว แพทย์อาจกังวลว่า ผู้ป่วยและญาติจะเข้าใจผิด คิดว่าแพทย์ไม่อยากรักษาคนไข้แล้ว นอกจากนี้ยั งมีแพทย์จำนวนมากที่อยากจะคิดหาวิธีรักษาทุกทางเสียก่อน จึงจะคุยกับผู้ป่วยเรื่องการวางแผนระยะสุดท้ายของชีวิตซึ่ งในบางกรณีอาจไม่ทันการณ์


ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้ คือ การวางแผนดูแลสุขภาพช่วงท้ายของชีวิต ผู้ป่วยและครอบครัวอาจต้องเป็นฝ่ายเริ่มชวนคุย สื่อสารว่าตนประสงค์จะวางแผนดูแลสุขภาพเมื่อโรคที่ตนเป็นอยู่รักษาได้ยาก หรืออาจรักษาไม่หายแล้ว


Living Will เครื่องมือแสดงเจตนาเสริมพลังผู้ป่วย

เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสื่อสารความต้องการในช่วงท้ายของชีวิต และป้องกันการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์คือ การเขียน Living Will หรือหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงท้ายของชีวิต ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 การเขียนเอกสารฉบับนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ที่จะวางแผนดูแลสุขภาพช่วงท้ายของชีวิต เพิ่มโอกาสที่จะสื่อสารความต้องการของตนเองว่า หากตนใกล้เสียชีวิตต้องการให้ญาติ หรือบุคลากรสุขภาพดูแลอย่างไร


ผู้สนใจสามารถศึกษาแบบฟอร์มตัวอย่างการเขียนอย่างง่ายได้ในเว็บไซต์ www.thailivingwill.com หรือทำ Living Will ในรูปแบบออนไลน์ได้อย่างสะดวก ผ่านทางไลน์ชีวามิตร โดยเพิ่มเพื่อนที่ LINE ID : @cheevamitr หรือคลิก https://line.me/R/ti/p/%40urg1907j


ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ใช่การเร่งการตาย แต่เป็นเครื่องแสดงความจำนงว่า ผู้ป่วยยอมรับความจริงของชีวิต และประสงค์จะจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care จากทีมดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลทั่วประเทศ


Palliative Care ระบบการดูแลสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิต

การดูแลแบบประคับประคอง เป็นศาสตร์การดูแลแบบองค์รวม คือ แม้ผู้ป่วยจะรักษาไม่หายแล้ว แต่ยังคงได้รับการดูแลให้สุขสบายกาย ด้วยการลดอาการรบกวน บรรเทาปวด รวมทั้งได้รับการดูแลทางจิตใจและสังคม จากบุคลากรสุขภาพ ครอบครัว และชุมชน ให้มีสุขภาวะในทุกมิติ


ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยอย่างไรก็ขึ้นกับว่า ชีวิตที่เหลืออยู่ เขาและเธอให้ความสำคัญกับอะไร เมื่อทราบความปรารถนาแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ และครอบครัว ควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงสิ่งที่ต้องการ หรือคุณค่าเหล่านั้น เช่น ได้อยู่กับคนรัก ได้ทำสิ่งที่ใฝ่ฝันปรารถนา ได้ขออภัย หรืออโหสิกรรม ได้กลับบ้าน ได้เข้าถึงประสบการณ์ทางศาสนา หรือแม้แต่ได้อยู่เงียบ ๆ หรือฟังเพลงที่ชอบ


แม้ว่าการดูแลแบบประคับประคองจะเริ่มต้นพัฒนาขึ้นในสังคมไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา บางโรงพยาบาลเพิ่งมีทีมดูแลแบบประคับประคองอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่ปีนี้ แพทย์ พยาบาล และทีมสหสาขาที่ดูแลแบบประคับประคองในระบบบริการสุขภาพไทยจึงยังมีข้อจำกัด และต้องการการสนับสนุนจากภาคประชาชน โดยเฉพาะการสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิตระยะท้าย และการเตรียมตัวเพื่อจากไปอย่างสงบ

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads