Knowledge cover image
10 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. 10 เรื่องต้องรู้เมื่อทำ Living Will

10 เรื่องต้องรู้เมื่อทำ Living Will

เพื่อให้เป็นเครื่องมือสื่อสารแทนตัวเราในช่วงระยะสุดท้าย


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

หนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Advance Directives) หรือ Living Will เป็นเอกสารที่ทำขึ้นตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 เพื่อแสดงเจตนาล่วงหน้าในการเลือกวิธีรักษา และดูแลสุขภาพในช่วงสุดท้ายของชีวิต ให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี เหมาะสม จนสามารถนำไปสู่การจากไปอย่างสงบสุขแบบที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติ หรือตายดี 


Living Will เป็นเครื่องมือช่วยวางแผนชีวิตช่วงสุดท้ายเรื่องการรักษาพยาบาล และใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าในตอนนั้นไม่สามารถสื่อสาร หรือแสดงเจตนาด้วยตนเองได้อีก (ไม่นับกรณีป่วยเฉียบพลัน หรือประสบอุบัติเหตุ) เพื่อให้เข้าใจ มีแนวทางการดูแลที่ชัดเจน ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของเจ้าของชีวิต


แล้วการทำหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Advance Directives) หรือ Living Will ต้องทำอย่างไร 


ชีวามิตรได้สรุป 10 เรื่องที่ทุกคนต้องรู้มาให้ทำความเข้าใจเพิ่มเติม ดังนี้

  1. Living Will เป็นการ “ยืนยันสิทธิด้านสุขภาพ” ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 
  2. Living Will ทุกคนสามารถทำได้เมื่อมีอายุ 18 ปี และมีสติสัมปชัญญะสามารถเขียนได้ 
  3. Living Will ไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถทำขึ้นได้ด้วยตนเอง เช่น เขียนด้วยลายมือ เขียนในสมุดเบาใจ เขียนในแบบฟอร์มของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นต้น
  4. Living Will เขียนแล้วสามารถเปลี่ยนแปลง หรือเขียนใหม่ได้ โดยต้องระบุวันที่ไว้ด้วย เพราะกฎหมายจะถือฉบับที่แก้ไขครั้งสุดท้ายเป็นสำคัญ
  5. Living Will ไม่ใช่การุณยฆาต หรือการอนุญาตให้เร่งการตาย หรือการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วเข้า (Active euthanasia)
  6. Living Will ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น ในกรณีที่ยังรักษาได้ ต้องรักษากันไปตามปกติ
  7. Living Will ไม่ใช่การทอดทิ้งผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เพื่อให้จากไปอย่างสงบ 
  8. Living Will ช่วยวางแผนเรื่องอื่น ๆ นอกจากเรื่องทางการแพทย์ เช่น ต้องการพบใคร ต้องการการเยียวยาจิตใจแบบไหน ต้องการเสียชีวิตที่ไหน เป็นต้น
  9. Living Will เมื่อทำเสร็จแล้วให้เซ็นชื่อ มีพยานหรือไม่ก็ได้ แล้วเก็บฉบับจริงไว้กับตัว โดยถ่ายสำเนานำไปแนบไว้ในเวชระเบียน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์รับทราบ และทำตามความต้องการดังกล่าว
  10. Living Will สามารถระบุผู้ใกล้ชิดที่จะเป็นผู้ตัดสินใจแทนได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หรือสื่อสารไม่ได้ หากมีสิ่งที่ต้องตัดสินใจเพิ่มเติมนอกจากความต้องการที่ระบุไว้


สำหรับผู้สนใจ และต้องการทำ Living Will สามารถทำในรูปแบบออนไลน์ได้อย่างสะดวก ผ่านทางไลน์ชีวามิตร โดยเพิ่มเพื่อนที่ LINE ID: @cheevamitr หรือคลิก https://line.me/R/ti/p/%40urg1907j


Living Will ฉบับออนไลน์นี้ ชีวามิตรพัฒนาร่วมกับ Peaceful death ซึ่งจะช่วยให้ผู้สนใจได้รับความรู้ ความเข้าใจในการวางแผนช่วงสุดท้ายของชีวิตในมิติด้านกฎหมายแบบครบถ้วน โดยเฉพาะการเขียน หรือทำ Living Will ด้วยตนเอง 


ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรเรียงเรียงข้อมูลจากหนังสือ “ดูแลชีวิตและทรัพย์สินอย่างไรให้หายห่วง” โดย ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads