Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. วิชาชีวิต : เตรียมประคับประคอง

วิชาชีวิต : เตรียมประคับประคอง

การต่อสู้ระหว่าง “ความรัก” กับ “ความรัก” เปิดใจถามโดยดีเจพี่อ้อย


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

เมื่อเห็นคนที่เรารักเจ็บปวด ความรักทำให้เราไม่อยากเห็นเขาต้องเจ็บปวดอีกต่อไป แต่ถ้าการหลุดพ้นเป็นวิถีที่ทำให้รอดพ้นจากความทรมานนั้น นั่นหมายถึง ถ้าเราจะต้องเสียคนเราที่รักไปตลอดกาล เราจะทำอย่างไร ถึงวันนั้นวันที่คนรักกันต้องแบกรับภาระทางอารมณ์อันหนักอึ้ง เมื่อจะต้องเลือกระหว่างยื้อลมหายใจของคนที่รักไว้ แต่ต้องทนเห็นความเจ็บปวดทรมาน กับการปล่อยให้เขาเดินสู่เส้นทางของความสงบสบาย หากแต่เราต้องสูญเสียความรักนั้นไป 


การวางแผนและสื่อสารล่วงหน้าร่วมกัน จึงเป็นประเด็นที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจและเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมการเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีสุข


วันนี้ เราได้ดีเจชื่อดัง ผู้ผ่านเรื่องราวความรักของผู้คนที่หลากหลาย อย่าง ดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล และคุณหมอที่เห็นการต่อสู้ระหว่างความรักและความรักมายาวนาน รศ.พญ.รัตนา พันธ์พานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันผู้สูงอายุแมคเคน จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย มาร่วมพูดคุยในประเด็น “เตรียมประคับประคอง” 


พี่อ้อยเปิดประเด็นด้วยคำความที่ทำให้เราต้องคิดตาม..ตอนมีชีวิต เรายังวางแผนชีวิตเลย ทำไมในช่วงสุดท้ายเราถึงยอมรับและจัดการการจากไปไม่ได้..น่าคิด!


ดีเจพี่อ้อย: คนไทยชอบตั้งคำถามว่า เราไม่พูดเรื่องความตาย เรื่องไม่เป็นมงคลได้ไหม ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากเลย เราเห็นถึงความไม่มั่นคงในการเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยรู้สึกว่าอย่าให้ฉันเจ็บมากนะ แต่ญาติจะทำทุกอย่างให้ลมหายใจยังอยู่ มันก็เลยมีความขัดแย้งระหว่างความต้องการของผู้ป่วยและคนที่รักเขา มีเคสแบบนี้ให้เห็นบ่อยไหมคะ ?


คุณหมอรัตนา: มีให้เห็นเรื่อย ๆ คนที่เข้าสู่ระยะสุดท้ายหรือป่วยหนักแล้ว จริง ๆ เขาต้องการต่อสู้ไหม…ไม่ใช่นะคะ จากประสบการณ์แล้ว คนที่เข้าสู่ช่วงสุดท้าย ประมาณ 3 เดือนสุดท้าย เขาจะรู้สึกว่าเวลามาถึงแล้ว…ในช่วงสุดท้าย คนเราจะรับรู้เรื่องนี้ด้วยตัวเอง การแสวงหาการรักษาแบบไม่สิ้นสุดจะเป็นเรื่องของคนรอบตัว กับทีมผู้ดูแลที่อยู่ในภาวะยากลำบากในการตัดสินใจ “การดูแลรักษาแบบประคับประคอง” จึงเข้ามาอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ป่วยและญาติ มีบทบาทในการลดภาระอันหนักอึ้งทางอารมณ์ ความทรมานและความรู้สึกผิดซึ่งแลกมาด้วยความรู้ความเข้าใจ การเตรียมพร้อมและความมั่นคง


ดีเจพี่อ้อย: การดูแลแบบประคับประคองคืออะไร ช่วงเวลาไหนที่เราควรมองหาการรักษาแบบนี้ ผู้ป่วย ญาติ จะได้อะไรจากการรักษาแบบประคับประคอง ?


คุณหมอรัตนา: มีก่อนอื่นต้องพูดก่อนว่า การดูแลแบบประคับประคองไม่ได้แปลว่าไม่ทำอะไรเลย เป้าหมายหลักคือ ความสุขสุดท้าย ความสุขจากการมีชีวิตที่ดีในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ตายไม่ตายไม่ใช่ประเด็น เราจะมองในภาพองค์รวมของชีวิต ที่มีร่างกายมีจิตใจมีความสัมพันธ์ มีสังคม และรวมถึงมีจิตวิญญาณของตัวเอง ความสุขไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องการดูแลจัดการอาการของร่างกายเท่านั้น แต่เรามองเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิต จิตใจ และการตอบสนองความต้องการถึงสิ่งที่ค้างคาใจเขา จะช่วยทำอย่างไรให้เขาเกิดความสงบในชีวิตจริง ๆ


บทบาทนี้ของครอบครัวสำคัญมาก เราจะทำให้สมดุลได้อย่างไรในช่วงระยะการดำเนินโรค เมื่อเรารู้ว่าโรคมันจะใกล้ถึงจุดสุดท้ายแล้ว เพื่อความสุขสบายของผู้ป่วย เราก็ต้องลดสิ่งที่ไม่จำเป็นทางการแพทย์ปกติลง อย่างบางคนบอกว่าการรักษาบางอย่างไม่มีประโยชน์แล้ว เราก็ต้องลดลง เช่น สิ่งที่ทำให้เกิดการรุกรานความสุข เช่น การใส่เครื่องมือหรือการตรวจอาการต่าง ๆ ที่รบกวนความสุข หรือทำให้เกิดอาการข้างเคียง การดูแลแบบประคับประคองก็จะเป็นความสำคัญหลักขึ้นมาในช่วงท้าย 


และไม่ใช่แค่ผู้ป่วยเท่านั้น ครอบครัวก็ทุกข์ไม่น้อยไปกว่ากัน ทีมดูแลแบบประคับประคองก็จะเข้าไปดูแลญาติด้วย บางรายคนไข้อาจจะกำลังจะไปสบายและเข้มแข็ง แต่คนที่ป่วยหรือคนที่เราต้องดูแลกลับกลายเป็นญาติ หรือคนที่ดูแลคนไข้ก็มี หลายคนคงเคยได้ยินที่คนพูดกันว่า คนในครอบครัวป่วยคนหนึ่ง เหมือนจะป่วยด้วยกันทั้งบ้าน นั่นเพราะความเจ็บปวดทางกาย เราอาจจะแชร์กันไม่ได้ แต่ความรู้สึกมันถ่ายทอดถึงกันได้ ดังนั้น การดูแลจิตใจ ความรู้สึก ให้กำลังใจกันและกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญ


ดีเจพี่อ้อย: ในกรณีที่เราเป็นคนไข้ เราบอกหมอได้ไหมคะว่าช่วงท้ายนี้เราขออยู่บ้าน และมีการลดความทรมานจากอาการของโรคได้ไหมคะ ?


คุณหมอรัตนา: คือเราอาจจะแสดงเจตจำนงของเราไว้ว่า เราอยากได้แบบไหนในช่วงสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่เราอยากจะอยู่ เป็นที่ดูแลเราในช่วงสุดท้ายหรืออยากจะได้การรักษาการดูแลแบบไหนแค่ไหน เครื่องมืออะไรที่เราคิดว่าไม่ต้องการ การดูแลแบบไหนซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับทางการแพทย์ เราสามารถแสดงเจตนาหรือความต้องการได้ และขณะนี้กฎหมายไทยก็ยอมรับกับการแสดงเจตจำนงของผู้ป่วย แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่พูดเรื่องนี้ก่อน แถมปกปิดด้วยเพราะกลัวคนไข้จะเสียใจ คือ เจตนาดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเราควรจะให้เขารู้ เพราะคนที่ป่วยหนักและกำลังเข้าสู่ระยะท้าย เขาจะขาดโอกาสเตรียมตัว ขาดโอกาสที่จะทำบางสิ่งบางอย่างที่มันยังไม่แล้วเสร็จ ยังค้างคา และอาจจะเกิดความไม่ไว้ใจในช่วงสุดท้ายกับคนรอบข้างหรือกับหมอที่รักษาเอง


มีงานวิจัยอ้างว่า ผู้ป่วยที่รู้สถานการณ์จริงเป็นผู้ที่ทุกข์น้อยกว่า ยังสามารถมีเวลาวางแผนกับเวลาที่เหลืออยู่ได้ดีกว่าด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้จึงตอกย้ำประเด็นในตอนต้นของพี่อ้อยที่ว่า “ตอนมีชีวิต เรายังวางแผนชีวิตเลย ทำไมในช่วงสุดท้ายเราจัดการการจากไปไม่ได้” การได้รู้ข้อมูลจริงเกี่ยวกับตัวเองจะทำให้ผู้ป่วยได้ตั้งตัวติดคิดได้ ว่าเราต้องการการดูแลแบบไหนในช่วงระยะสุดท้าย จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เพราะกลัวตัวเองเจ็บ กลัวทรมานหรือกลัวจะเป็นภาระของคนที่รัก

“Living will หรือ หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข” จึงเป็นอีกประเด็นที่ถูกพูดถึงกันต่อมา เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าทุกคนมีสิทธิที่จะวางแผนและเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ในช่วงท้ายของชีวิต


การบอกผู้ป่วยให้รับรู้สถานการณ์นั้น สำหรับคนไทยจะต่างจากคนต่างชาติ เขาจะคิดอีกแบบ การตัดสินใจในช่วงสุดท้ายจะเป็นเรื่องของเจ้าตัว เพราะฉะนั้นการตัดสินใจจะเป็นตัวของตัวเอง หมอจะต้องรู้วัฒนธรรมตรงนี้ ต้องคุยกับคนไข้ ไม่มีถูกหรือผิด เป็นวัฒนธรรมเราที่เป็นสังคมที่อยู่กันเป็นครอบครัว และส่วนมากจะมีส่วนในการตัดสินใจแทน การยืนยันว่าการเปิดเผยให้เขาเข้าใจในโรคที่เป็น และลักษณะการดำเนินโรคจะเป็นอย่างไรเป็นศิลปะจริง ๆ



ดีเจพี่อ้อย: ผู้ป่วยชาวต่างชาติเขาจะเป็นอย่างไรคะจากประสบการณ์ของอาจารย์ ?


คุณหมอรัตนา: สถาบันแมคเคนที่ทำงานอยู่เป็นสถาบันผู้สูงอายุ และเรามีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เขาไม่รับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วจะมาอยู่ที่นี่ เป็นต่างชาติที่ใช้ชีวิตในประเทศไทย เพราะฉะนั้นเขาจะไม่มีญาติพี่น้องมาก และจะตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่โดยวัฒนธรรมแล้ว คนตะวันตกจะเก็บเรื่องแบบนี้อยู่ที่ตัวเอง เขาวางแผนล่วงหน้าเมื่อรู้ว่าป่วย เขาจะแสวงหาการรักษาตัวโรคเหมือนกัน และแทบทุกรายจะมีเขียน Living Will ล่วงหน้าโดยหลัก ๆ เขียนว่า ไม่เอาสายอาหารทางจมูก ไม่ใส่ท่อ ไม่ปั๊มหัวใจ ทีมที่แมคเคนก็จะดูแลตามนั้น


ดีเจพี่อ้อย: จริง ๆ เราเขียนได้นะคะ Living Will คือเรามีสิทธิ์ในชีวิตของเราจนวินาทีสุดท้าย ที่เราจะให้รักษาถึงขั้นไหน นี่คือการรักษาแบบประคับประคอง และเป็นไปได้ไหมคะ คนไข้ชาวไทยจะเดินไปคุยกับหมอ ขอแบบประคับประคองได้ไหม ?


คุณหมอรัตนา: ทำไมจะมีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ มันอยู่ที่ความเชื่อว่า ที่โรงพยาบาลเขามีการดูแลแบบประคับประคองด้วย ที่สำคัญคือ ควรจะคุยกับหมอเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และการดำเนินของโรคซึ่ งต้องคุยเป็นระยะ เรายังขาดการสื่อสารกัน เรามักจะไปถามกันตอนท้ายว่าจะปั๊มไหม ใส่ท่อไหม ซึ่งความรู้นี้จะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจของคนไข้และญาติด้วย ผู้ป่วยที่ได้แสดงเจตนาในการรับการรักษา เหมือนเตรียมคู่มือให้ญาติได้เดินตามความปรารถนาอย่างไม่มีอารมณ์ติดค้างในใจหลังจากนั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการดูแลกันและกันอย่างเรียบง่าย และเต็มไปด้วยความรักอย่างแท้จริง


ดีเจพี่อ้อย: คนปกติที่ยังแข็งแรงควรเตรียมตัวอย่างไร เมื่อไรควรเขียน Living Will ?


คุณหมอรัตนา: จะเขียนไม่เขียนไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่เราควรบอกความชอบ หรือเจตนาของเราว่า อยากให้เป็นแบบไหนให้คนที่อยู่รอบข้างรับรู้ แต่ถ้าจะเขียน กฎหมายยอมรับตั้งแต่บรรลุนิติภาวะแล้ว ตอนนี้มีผู้คนเขียนแล้วแบ่งปันกัน ฝรั่งเขาจะถือทั้งประกันชีวิตและ Living Will ทำให้คนข้างหลังสบายใจ ไม่ต้องอึดอัดที่ต้องมาตัดสินใจแทน


ดีเจพี่อ้อย: อาจารย์เคยเจอไหมคะ คนที่วาระสุดท้ายแต่ยังมีความสุข ?


คุณหมอรัตนา: เจอหลายราย คนที่มีแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต มักจะเข้าใจยอมรับกับการจากไป สำคัญที่สุดคือ การยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ช่วงสุดท้ายที่เขาเรียกว่า “ตายดี” คนที่มีความเชื่อมีศรัทธา คนดูแลต้องเข้าใจคนไข้แต่ละคน ถ้าเราทำสำเร็จ เราจะทำให้เขามีจิตใจสงบก่อนที่จะจากไป ใช้ศรัทธาของคนไข้ให้เขายึดเหนี่ยว ไม่ใช่ของเรา คนไข้ส่วนใหญ่จะกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงท้าย หรือเมื่อเวลานั้นมาถึง ถ้าเราสามารถหาได้ว่า ความกลัวเขาคืออะไรและเยียวยาอย่างไร ให้ข้อมูลให้ความมั่นใจว่า ตลอดเวลาเดินทางของเขาจะมีคนอยู่ช่วย แต่ความทุกข์ของญาติจะมีมาก ก็ต้องดูแลคนที่เป็นญาติด้วย ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่การเตรียมตัวทำให้เรามีสติมากขึ้น เราวางแผนที่จะมีชีวิตดี ตอนตายเราก็ควรได้ตายดี


ดีเจพี่อ้อย: บางทีเราอาจจะเจอเหตุการณ์ที่ทำให้มาพูดทีหลังว่า “ถ้ารู้อย่างนี้” ทุกวันเวลามันเดินผ่านเราไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญไม่มีกำหนดไว้ว่า วันนี้คนที่เรารัก คนที่อยู่ใกล้ ๆ เราจะได้กอดกันครั้งสุดท้ายเมื่อไร เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงเวลาของการดูแลแบบประคับประคอง วันนี้เราต้องเห็นคุณค่าของเวลา วันนี้ เราได้ทำอะไรให้เต็มที่ในการดูแลคนที่เรารักหรือยัง


คุณหมอรัตนา: การดูแลแบบประคับประคองทำให้คนป่วยมีโอกาสในการเลือกระยะสุดท้ายของเขาเอง ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล เมื่อเวลานั้นมาถึง “สติ” คือ สิ่งสำคัญที่สุด เราอาจจะตกในอารมณ์และทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้ามีสติ มีความรู้ตัวรู้เท่าทัน ความทุกข์ไม่ได้อยู่กับเราตลอด ในช่วงเวลาที่หนักอึ้งนั้น จะทำให้เราตัดสินใจได้ดีกว่า


การเข้าใจและการวางแผนจะช่วยบรรเทาความทุกข์ที่เกิดจาก “ความรักความห่วงใยไม่อยากให้คนที่รักเจ็บปวด กับความรักความอาลัยที่ไม่อยากจากคนที่รัก” ของทุกคนได้


*ชม LIVE “วิชาชีวิต: เตรียมประคับประคอง” แบบเต็ม ๆ ได้ที่ https://youtu.be/yNClrpqQ51o

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads