- คลังความรู้
- Advance Care Planning
Advance Care Planning
วางแผนเพื่อดูแลชีวิตระยะท้ายล่วงหน้า
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
หลายคนรู้จัก “หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย” หรือ “Living Will” ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 แต่สิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ด้วย คือ “กระบวนการสื่อสาร” ระหว่างเจ้าของชีวิต (ผู้ทำ Living Will) กับบุคลากรสุขภาพ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การดูแลระยะท้ายของชีวิตประสบความสำเร็จมากขึ้น และเป็นไปตามความต้องการของเจ้าของชีวิตอย่างแท้จริง
ทำไม “กระบวนการสื่อสาร” จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีการทำ Living Will กันมานานแล้ว มักพบว่า เมื่อต้องนำ Living Will ไปปฏิบัติจริง กลับมีปัญหาเพราะการมุ่งปฏิเสธการรักษาเพียงอย่างเดียวโดยเน้นตัวเอกสาร แต่ไม่สนใจกระบวนการสื่อสารระหว่างกัน พอถึงเวลานั้นจริง ๆ บุคลากรสุขภาพกลับไม่รู้ ไม่เชื่อ หรือไม่ปฏิบัติตาม
ปัจจุบัน ทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการ “การวางแผนดูแลรักษาในระยะท้ายของชีวิตล่วงหน้า (Advance Care Planning)” ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมมากกว่าเป็นแค่การปฏิเสธการรักษา และถือเป็นส่วนสำคัญในการกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) โดยเป็นการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และทีมดูแลแบบประคับประคอง เพื่อวางแผนการดูแลในระยะท้ายของชีวิตให้ตรงกับความต้องการ เกิดประโยชน์ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วย
แล้วเราจะวางแผนดูแลรักษาในระยะท้ายของชีวิตล่วงหน้าได้อย่างไร
การวางแผนดูแลรักษาในระยะท้ายของชีวิตล่วงหน้า (Advance Care Planning) มีขั้นตอน ดังนี้
1. Patient Preference คือ การสื่อสารถึงสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ หรือให้ความสำคัญ รวมถึงเป้าหมายการดูแลรักษาเมื่อถึงเวลา ซึ่งต้องเกิดจากการที่ผู้ป่วยรับรู้แล้วว่า ตนเองเป็นโรคอะไร ระยะไหน การรักษาได้ผลอย่างไร จนถึงรายละเอียดต่าง ๆ เช่น อยากกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ขอให้ได้กล่าวคำขอบคุณ เสียใจ ขอโทษและให้อภัยกับใคร อยากให้ใครอยู่ด้วยหรือไม่อยากเห็นหน้าใครตอนนั้น อยากทำหรืออยากให้ใครทำอะไรให้ อยากสวดมนต์ อยากให้ดูแลความสะอาดระดับไหน เป็นต้น ความต้องการเหล่านี้ไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายมารองรับ แต่มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ขั้นตอนที่ 2 หรือการแสดงเจตนาว่าจะรับหรือไม่รับการดูแลรักษาประสบความสำเร็จมากขึ้น
2. Advance Decisions หรือ Advance Directives หรือ Living Will คือ การแสดงเจตนาว่าจะรับหรือไม่รับการดูแลรักษาเมื่อถึงเวลา หรือเมื่อผู้ป่วยไม่อยู่ในภาวะที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ส่วนนี้เป็นการปฏิบัติตามที่มาตรา 12 รองรับ โดยต้องวินิจฉัยก่อนปฏิบัติตามว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะนั้น หรือถึงเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามแล้วหรือยัง และการตายตามเจตนาของผู้ป่วยตามกฎหมาย คือ ตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่การเจตนาตาย หรือฆ่าตัวตาย หรือเร่งให้ตาย
3. Proxy Nomination คือ การเลือก “บุคคลใกล้ชิด” เพื่อทำหน้าที่แสดงเจตนาแทนหากไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ซึ่งต้องผ่านการวินิจฉัยทางการแพทย์ก่อนว่า ผู้ป่วยอยู่ในภาวะไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองแล้วหรือยัง
เราจะเห็นความแตกต่างได้ว่า การวางแผนดูแลรักษาในระยะท้ายของชีวิตล่วงหน้า (Advance Care Planning) คือ กระบวนการสื่อสารสองทางระหว่างผู้แสดงเจตนาหรือผู้ป่วยกับผู้เกี่ยวข้อง ส่วนหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย หรือ Living Will คือ เอกสารที่เน้นการแสดงเจตนาของผู้ป่วยและ/หรือผู้แทนโดยชอบธรรมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร คล้ายกับหนังสือยินยอมการรักษา หรือหนังสือยินยอมการผ่าตัด
ดังนั้น การวางแผนดูแลรักษาในระยะท้ายของชีวิตล่วงหน้า (Advance Care Planning) จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจและให้ความสำคัญมากขึ้น
