- คลังความรู้
- ความหมายที่แท้จริงของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
ความหมายที่แท้จริงของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
เป้าหมายของการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้าย
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
หลายคนยังเข้าใจผิดว่า การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เป็น “การยุติการรักษา และผู้ป่วยจะไม่ได้รับการดูแลอาการต่อ”
แต่แท้จริงแล้ว เป็นการเปลี่ยนเป้าหมายการรักษาของผู้ป่วยและญาติ จากเดิมที่หวังว่าต้องรักษาให้โรคหายขาด เป็นการดูแลตามอาการ และเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยหลังจากปรับเป้าหมายกันแล้ว ถ้าการดำเนินโรคเปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายการดูแลก็จะปรับเปลี่ยนได้อีกตามตัวโรค รวมทั้งมีการบริหารจัดการกับอาการในระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยสุขสบายมากที่สุด ได้รับความทุกข์ทรมานน้อยที่สุดในช่วงสุดท้ายของชีวิต จนสามารถจากไปอย่างสงบ สบาย สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเรียกว่า “ตายดี”
รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณยรักษ์ (Palliative Care Unit) โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย กล่าวถึง “การดูแลแบบประคองและการตายดี” ว่า
“การตายดี สิ่งสำคัญอย่างแรก คือ ความพร้อม เมื่อรู้ว่ากำลังจะตายแล้วยอมรับมันได้ พร้อมเผชิญกับความตาย ย่อมดีกว่าคนที่พยายามดิ้นทุรนทุราย ทำไมฉันต้องตาย ซึ่งเป็นการตายด้วยจิตใจที่ไม่สงบ
“สิ่งสำคัญอย่างที่สอง คือ ต้องมีการจัดการอาการที่ดี ผู้ป่วยระยะท้ายด้วยโรคต่าง ๆ ยกตัวอย่าง มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง หัวใจวาย น้ำท่วมปอด จะมีอาการหอบ ทุรนทุราย กระวนกระวาย ถ้าไม่มีระบบการจัดการอาการที่ดี คนไข้ก็จะทุกข์ทรมานเหมือนคนจมน้ำ แต่ถ้ามีระบบการจัดการอาการที่ดีก็จะช่วยให้คนไข้ตายดี ตายอย่างสงบ ไม่ทรมาน
ทำอย่างไรจึงจะไปสู่การตายดีได้
“ในมุมมองของหมอคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด ประเพณีวัฒนธรรมใด สุดท้ายคือ ขึ้นกับความเข้าใจและความชอบของคนไข้ ถ้าเรารู้ว่าในชีวิตเขานั้นอะไรสำคัญที่สุด มีคุณค่าสำหรับเขาที่สุด บางคนอาจบอกว่าคุณค่าของเขาคือ ได้รับการยอมรับในการทำงาน บางคนอาจบอกว่าขอแค่ให้ลูกเลี้ยงดูได้ดี บางคนอาจขอให้ตอนตายได้มีโอกาสสวดมนต์ แต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้น ให้เรายึดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับเขา อะไรคือที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเขา อะไรคือสิ่งมีคุณค่าที่สุดสำหรับเขา นี่คือการยึดที่ตัวตนของผู้ป่วยเป็นหลัก”
การดูแลแบบประคับประคองจึงมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งกระบวนการนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องวางแผนและทำงานเป็นทีม มีการสื่อสารพูดคุยวางแผนร่วมกันระหว่างตัวผู้ป่วย ครอบครัว คนใกล้ชิด และบุคลากรสุขภาพ เชื่อมโยงการดูแลจากโรงพยาบาลไปยังบ้าน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และไม่ได้ดูแลเฉพาะตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงครอบครัว คนใกล้ชิด ซึ่งเป็นผู้ดูแล และกำลังเผชิญกับการสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักด้วย
หากจะสรุปแนวทางสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น สามารถสรุปได้ ดังนี้
“Palliative Care ไม่ได้หมายถึงไม่ดูแล หรือไม่รักษาแล้ว”
แต่ยังต้องมีการดูแลรักษาเพื่อบรรเทาอาการไม่สุขสบาย ไม่ใช่การรักษาให้หายจากโรค
“Palliative Care ไม่ได้หมายถึงภาวะใกล้ตาย”
แต่หมายถึงการดูแลผู้ป่วยให้มีชีวิตอยู่ในระยะท้ายอย่างมีคุณภาพที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะมีเวลาเหลืออยู่เท่าไหร่ก็ตาม
“Palliative Care ไม่ได้หมายถึงการเร่ง หรือทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น”
แต่เป็นการดูแลให้ผู้ป่วยอยู่อย่างสุขสบายที่สุด และจากไปตามธรรมชาติ
“Palliative Care ที่บ้าน ไม่ใช่ทางเลือกที่ไม่ดี”
แต่ดีต่อผู้ป่วยที่ผูกพันกับบ้านและชุมชน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และได้ใช้เวลาอยู่กับคนที่รักมากขึ้น
“หมอและพยาบาลไปเยี่ยมที่บ้านบ่อย ๆ ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต”
แต่การไปเยี่ยมบ้านช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจ และคลายความกังวลของญาติ
“Palliative Care ไม่ใช่ทางเลือกแค่ตอนใกล้ตาย”
แต่ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี โดยสามารถเริ่มแนวทางนี้ได้ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยโรคว่า อาการเจ็บป่วยนั้นลุกลาม เรื้อรัง หรือไม่หายขาด
“Palliative Care ไม่ใช่การตัดสินใจแทนผู้ป่วยทุกเรื่อง”
แต่เคารพความต้องการสูงสุดของผู้ป่วย ให้ร่วมตัดสินใจเลือกการรักษาในวาระสุดท้าย และสามารถมอบอำนาจการตัดสินใจในช่วงระยะท้ายให้กับบุคคลที่ไว้วางใจ
แม้ว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์จะพัฒนาไปอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของมนุษย์ทุกคนให้อยู่ตลอดไปได้ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ทุกคนย่อมหลีกเลี่ยงความเสื่อมของสุขภาพ หรือความตายไม่ได้เลย การดูแลผู้ป่วยจึงจึงอาจจะต้องเปลี่ยนเป้าหมายจากเพื่อให้หาย หรือมีชีวิตยาวนานที่สุด ไปเป็นการดูแลผู้ป่วยที่มีโรค หรือความเสื่อมที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว สามารถอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หรือตายดีได้ แนวทางการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ตอบโจทย์นั้นได้ และเป็นแนวทางที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ ดังที่ รศ.พญ.ศรีเวียง กล่าวไว้ว่า
“การดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทย ควรจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ โดยต้องเป็น Palliative Care ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไข้และมีคุณภาพดี คนไข้ต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือ เป็นระบบที่ทุกที่ ทุกโรงพยาบาลมีเหมือนกัน ในมาตรฐานเท่าเทียมกัน”